ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 49 ฟื้นตัว ค่าดัชนีขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน หลังปฏิรูปการปกครอง

ข่าวทั่วไป Wednesday October 25, 2006 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ส.อ.ท.
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 49 ฟื้นตัว ค่าดัชนีขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน หลังปฏิรูปการปกครอง ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อลดลง ผู้ประกอบการคาดอีก 3 เดือนข้างหน้า กิจการมีแนวโน้มสดใสกว่าเดิม หลังสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกันยายน 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 517 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 96.8 จาก 85.6 ในเดือนสิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งค่าดัชนีในเดือนกันยายน 2549 มีค่าสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2549 โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 กับช่วงหลังการปฏิรูปการปกครอง พบว่า ค่าดัชนีหลังการปฏิรูปการปกครองปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครอง โดยเพิ่มขึ้นจาก 89.1 (ก่อนการปฏิรูปการปกครอง) เป็น 100.8 (หลังการปฏิรูปการปกครอง) แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายและคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับการปรับขึ้นของค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2549 เป็นผลมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนการประกอบการ และ ผลการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.2 94.4 103.8 63.0 และ 98.6 ในเดือนสิงหาคม เป็น 107.1 106.7 111.9 78.4 และ 108.1 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับค่าเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากขณะทำการสำรวจในช่วงเดือนกันยายน ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยอดคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว และมีส่วนช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความเชื่อมั่นว่า การปฏิรูปการปกครองที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่สถานการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยขอให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ชะลอการปรับราคาสาธารณูปโภค ตลอดจนใช้มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องวัตถุดิบ
ด้านแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่า มีแนวโน้มที่ดีและจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งขึ้น โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมคาดว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการดำเนินกิจการ เช่น ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย จะสามารถคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ มีความชัดเจนและมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนมากยิ่งขึ้น
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนกันยายน 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และ ยอดขายในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 89.3 107.8 92.0 และ 108.9 ในเดือนสิงหาคม เป็น 99.7 116.4 103.0 และ 120.4 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินค้าคงเหลือ การจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต และการลงทุนของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 112.8 103.9 118.2 และ 96.1 ในเดือนสิงหาคม เป็น 115.5 109.0 125.7 และ 99.0 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการลงทุนในประเทศ การลงทุนในต่างประเทศ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มขึ้นจาก 94.7 76.1 90.3 และ 94.3 ในเดือนสิงหาคม เป็น 96.8 99.1 95.2 และ100.6 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 109.0 106.9 และ 100.3 ในเดือนสิงหาคม เป็น 126.2 115.9 และ 109.8 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของราคาขาย และสินเชื่อในการประกอบการ ลดลงจาก 126.0 และ 102.9 เป็น 120.0 และ 100.6 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนกันยายน 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า มีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยรวม โดยมีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น 25 กลุ่มอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลง 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมี 16 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 80.4 เป็น 106.4 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพิ่มขึ้นจาก 72.9 เป็น 121.3 อุตสาหกรรมเคมี เพิ่มขึ้นจาก 70.5 เป็น 87.0 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เพิ่มขึ้นจาก 63.3 เป็น 103.4 อุตสาหกรรมยา เพิ่มขึ้นจาก 82.9 เป็น 99.3 อุตสาหกรรมรองเท้า เพิ่มขึ้นจาก 77.4 เป็น 100.0 อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มขึ้นจาก 62.2 เป็น 89.6 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เพิ่มขึ้นจาก 69.4 เป็น 114.7 อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นจาก 64.5 เป็น 84.5 อุตสาหกรรมเหล็ก เพิ่มขึ้นจาก 79.8 เป็น 100.9 อุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นจาก 83.1 เป็น 100.3 อุตสาห-กรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 89.2 เป็น 107.1 อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 68.6 เป็น 101.3 อุตสาหกรรมน้ำตาล เพิ่มขึ้นจาก 76.8 เป็น 107.3 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 67.4 เป็น 105.3 สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนมี 2 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ ลดลงจาก 98.8 เป็น 81.4 และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 115.4 เป็น 105.3
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 — 49 คน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 — 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 78.0 83.7 และ 94.6 ในเดือนสิงหาคม เป็น 87.8 95.9 และ 108.0 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ซึ่งลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายเป็นสำคัญ และยังเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 84.3 79.5 92.3 และ 83.2 ในเดือนสิงหาคม เป็น 92.6 95.6 109.0 และ 92.6 ในเดือนกันยายน ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคเหนือมีค่าดัชนีลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยจาก 94.6 เป็น 93.5 ในเดือนกันยายน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งภาคเหนือเป็นภาคที่มีปริมาณน้ำฝนในเดือนกันยายนมากกว่าค่าปกติมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ของประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ