บอร์ดบีโอไออนุมัติ 7 โครงการรวด ส่งท้ายปี 48 ปิโตรเคมี — ขนส่งทางเรือ มูลค่าลงทุนกว่า 1.57 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday December 29, 2005 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไออนุมัติ 7 โครงการรวด ส่งท้ายปี 48
ปิโตรเคมี — ขนส่งทางเรือ มูลค่าลงทุนกว่า 1.57 หมื่นล้านบาท
บอร์ดบีโอไอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน รวด 7 โครงการ ทิ้งทวนส่งท้ายปี 2548 ทั้งธุรกิจขนส่งทางเรือ - ปิโตรเคมี คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 15,770.9 ล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ให้การส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 7 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 15,770.9 ล้านบาท ดังนี้
กิจการผลิต PURIFIED TEREPHTHALIC ACID (PTA) ของบริษัท ทีพีที ปิโตรเคมีคอลส์ จำกัด ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิต PURIFIED TEREPHTHALIC ACID (PTA) ปีละประมาณ 100,000 ตัน เงินลงทุน 2,217.9 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหรรมมาบตาพุด จังหวังระยอง
โครงการนี้เป็นการผลิต PTA ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเม็ด พลาสติกเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและภูมิภาคอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ของ โครงการนี้จะเป็นลูกค้าในประเทศร้อยละ 80 ได้แก่ ทุนเท็กซ์ , ไทยโพลีเอสเตอร์, เทยิน โพลีเอสเตอร์, กังวาล โพลีเอสเตอร์ และบางกอกโพลีเอสเตอร์ ซึ่งลูกค้าเหล่านี้จะเพิ่มการใช้วัตุดิบ PTA ในประเทศเพิ่ม มากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่วนอีกร้อยละ 20 จะส่งออกไปยังประเทศไต้หวัน ออสเตรเลีย จีนและ แอฟริกาใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นฐานลูกค้าเดิมของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบันมีผู้ผลิต PTA ในไทยรวม 3 รายที่ได้รับการส่งสริมการลงทุน ได้แก่ สยาม มิตซุยพีทีเอ(เครือซีเมนต์ไทย), ทีพีที ปิโตรเคมีคอลส์และอินโดรามา
กิจการขนส่งทางเรือ จำนวน 2 โครงการ ของบริษัท เอ็มทีอาร์-1 จำกัด และบริษัทเอ็มทีอาร์-2 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งมวลชนมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ ในกิจการขนส่งทางเรือ 2 โครงการ โดยเป็นเรือบาร์จ (Tender Rig Barge) โครงการละ 1 ลำ ขนาด 6,063 เดทเวทตัน (5,974 ตันกรอส) และ 6,606 เดทเวทตัน (7,989 ตันกรอส) เงินลงทุนรวม 2 โครงการ 2,149.5 ล้านบาท
โครงการนี้จะให้บริการเรือส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนงานสำรวจและขุดเจาะแก่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ทั้งที่เป็นแหล่งสำรวจและขุดเจาะในอ่าวไทย และชายฝั่งทะเลทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้ม และความต้องการใช้เรือประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคและการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศ ผนวกกับความต้องการใช้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซ ธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ ประเทศผู้ผลิตมีการขยายฐานการผลิตและเพิ่มแหล่งขุดเจาะ เพื่อสนองความต้องการดังกล่าว โดยปัจจุบันมี 3 บริษัทในประเทศไทยที่ได้รับสัปทานในการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่นอกชายฝั่ง ทะเลอ่าวไทย คือ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บริษัท ยูโนแคล ประเทศไทย และ CHEVRON TEXACO LTD.
กิจการขนส่งทางเรือ จำนวน 2 โครงการ ของ บริษัท พรีเชียส เอ็มเมอรัลล์ จำกัด และบริษัท พรีเชียส การ์เน็ตส์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งมวลชนมวลชนและสินค้าขนาดใหญ่ ในกิจการขนส่งทางเรือ โดยทั้ง 2 โครงการให้บริการเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) อายุเรือไม่เกิน 20ปี ในลักษณะประจำเส้นทางเส้นทางการเดินเรือขึ้นกับความต้องการของผู้เช่า มีมูลค่าเงินลงทุนและรายละเอียดดังนี้ คือ โครงการของบริษัทพรีเชียส เอ็มเมอรัลส์ จำกัด ใช้เรือระวางบรรทุก 28,364 เดทเวทตัน ลงทุนทั้งสิ้น 1,008.6 ล้านบาท บริษัทพรีเชียส การ์เน็ตส์ จำกัด ใช้เรือระวางบรรทุก 28,415 เดทเวทตัน ลงทุนทั้งสิ้น 1,020.9 ล้านบาท
กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการขนถ่ายน้ำมันดิบจากเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ ผ่านทุ่นผูกเรือแบบทุ่นเดี่ยว (Single Buoy Mooring : SBM )และท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลไปยังคลังเก็บน้ำมันดิบบนฝั่ง 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,032 ล้านบาท เป็นหุ้นไทย ร้อยละ 72 ต่างชาติร้อยละ 28 ที่ตั้งโครงการอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยคาดว่าเมื่อโครงการทุ่นผูกเรือรับน้ำมันดิบเปิดดำเนินการแล้วจะมีการขนส่งน้ำมันดิบผ่านทุ่นนี้เพื่อเข้ากลั่นในโรงกลั่นไทยออยล์ปีละประมาณ 79 ล้านบาร์เรล
กิจการท่าเรือ ของบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการท่าเรือ ให้บริการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ปีละประมาณ 550,000 ทีอียู ลงทุนทั้งสิ้น 3,342ล้านบาท โครงการตั้งอยู่ที่ท่าเทียบเรือหมายเลข A 3 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ประกอบด้วยหุ้นไทยร้อยละ 51 ต่างชาติร้อยละ 49 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท Hutchinson Port Holding Limited (HPH)ซึ่งมีฐานประกอบการอยู่ที่ฮ่องกง โดยเป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าเทียบเรือซึ่งมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก และยังเป็นผู้บริหารท่าเทียบเรือ ขนาดใหญ่ 5แห่งของโลก คือ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น บูซานและร็อตเตอร์ดัม--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ