กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันฯ แจ้งเตือนประชาชนชาวอีสาน ใช้น้ำอย่างประหยัด สำรวจซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ระมัดระวังการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงครึ่งหลังของฤดูหนาว ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน มีกำลังอ่อนลง ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้สถานการณ์ภัยหนาวลดความรุนแรงลงไปในทุกพื้นที่ ยกเว้น พื้นที่ตอนบนของประเทศจะมีอากาศหนาวเย็นต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ประกอบกับในห้วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกน้อยทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่สำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาตรน้ำ 830 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุ , เขื่อนลำตะคอง มีปริมาตรน้ำ 166 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุ , เขื่อนลำพระเพลิงมีปริมาตรน้ำ107 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำ 763 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปรกติและปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดสถานการณ์ภัยแล้งขึ้นแล้ว 17 จังหวัด 10,418 หมู่บ้าน คิดเป็น ร้อยละ 31.98 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามประชาชน ที่อยู่ในเขตชลประทานยังจะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนถึงเดือนเมษายน 2549 สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ พื้นที่นอกเขตชลประทาน อาจต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร อีกทั้ง สถานการณ์ภัยแล้งจะขยายวงกว้างและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สภาพอากาศโดยทั่วไปที่แห้งทำให้เอื้อต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ , ภูหินร่องเกล้าและภูพานขอให้ประชาชนระมัดระวังการประกอบกิจกรรมต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้
นายอนุชา กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจและซ่อมแซมภาชนะเก็บกักน้ำ สำรวจแหล่งน้ำในชุมชน เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งรวมทั้งขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากนี้ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร รถบรรทุกน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทันทีที่ได้รับการร้องขอ โดยพี่น้องประชาชนหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในเขตพื้นที่หรือสายด่วนปภ.1784ตลอด24 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โทร./โทรสาร.0-2243-0674
e-mail : public@ disaster.go.th
www.disaster.go.th สายด่วน 1784--จบ--