กรมประมงเร่งสร้างมาตรฐานโรงเพาะฟักลูกกุ้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 9, 2005 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมประมง
กรมประมงเร่งสร้างมาตรฐานโรงเพาะฟักลูกกุ้ง จัดทำระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียว คุมเข้มการผลิตลูกกุ้งปลอด 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคตัวแดงจุดขาว โรคหัวเหลือง โรคทอร่าซินโดรม และโรคแคระแกร็น เพื่อให้เกษตรกรได้ลูกกุ้งคุณภาพดี พร้อมประกาศใช้เดือนมีนาคมนี้
นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมประมงได้เตรียมนำระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวเข้ามาควบคุมโรงเพาะฟักทั้งลูกกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของลูกกุ้งที่เกษตรกรนำมาเพาะเลี้ยง นอกจากนั้นลูกกุ้งที่ผลิตจากโรงเพาะฟักจะต้องปลอดโรคสำคัญ 4 โรค คือ โรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง โรคทอร่าซินโดรม และโรคแคระแกร็น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีความมั่นใจในการเลี้ยงหากซื้อลูกกุ้งที่ผ่านการรับรองจากกรมประมงแล้ว
ด้านนายสิริ เอกมหาราช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง กล่าวว่า สาเหตุที่มีการนำระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวมาใช้นั้น เนื่องจากกรมประมงได้รับร้องเรียนจากเกษตรกรเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมกรณีที่ให้สิทธิ์โรงเพาะฟักที่ได้เข้าสู่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล หรือ ซีโอซี (Code of Conduct) เท่านั้น ที่สามารถนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวสายพันธุ์ดี (ฮาวาย)และผลิตลูกพันธุ์ (กุ้งพี) มาจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ ซึ่งกรมประมงได้พิจารณาและเห็นว่า ควรจัดทำระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวขึ้น เพื่อให้โรงเพาะฟักจีเอพีที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถจำหน่ายลูกพันธุ์กุ้งขาว ที่ซื้อนอเพลียสมาจากโรงเพาะฟักซีโอซีที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ฮาวายได้
นอกจากนี้ยังอนุญาตให้โรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐานการผลิตกุ้งที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค หรือ จีเอพี (GAP/GooD Aquaculture Prectice) สามารถใช้พ่อแม่พันธุ์บ่อดินที่มีสายพันธุ์ดีจากต่างประเทศ มาดำเนินการได้ด้วย แต่ต้องเป็นฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานว่ามีระบบที่ดี ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงให้ผลิตพ่อแม่พันธุ์จากบ่อดิน สำหรับโครงการรับรองระบบโรงเพาะฟักจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวนี้ไม่ได้บังคับให้โรงเพาะฟักจีเอพีต้องเข้าระบบทุกราย แต่เป็นการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครเพื่อให้กรมประมงรับรองคุณภาพฟาร์ม ว่ามาตรฐานฟาร์มมีคุณภาพเหนือกว่า จีเอพี ทั่วไป หรือเทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับซีโอซี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันมีโรงเพาะฟักที่ผ่านระบบซีโอซีประมาณ 135 แห่งจากทั้งหมด 2,000 แห่ง จึงเชื่อว่าหากมีการนำระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวมาใช้จะทำให้โรงเพาะฟักเข้าสู่ระบบมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำรายละเอียดข้อปฏิบัติ รวมถึงการรับรองระบบฟาร์มและพ่อแม่พันธุ์ที่ปลอดเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ระบบจีเอพีพลัส ไบโอซีเคียวได้อย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ