ดัชนีเชื่อมั่น พ.ค. กระเตื้อง ยอดขาย - ออเดอร์เพิ่ม วอนรัฐเร่งยุติปัญหาการเมือง

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2009 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,301 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 78.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่ระดับ 76.3 เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยและประเทศต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในตลอดเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการก็ยังประสบกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลประกอบการที่ลดลง ถึงแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก สะท้อนจากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 และติดต่อกันเป็นเดือนที่ 38 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ที่อยู่ในระดับ 81.0 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่า ความเชื่อมั่นในด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มมีทิศทางการขยายตัวของการบริโภคอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ค่าดัชนีฯ ดังกล่าวยังเป็นระดับที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 76.9 แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากผลกระทบด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศ ที่ปรับลดลงของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, ปูนซีเมนต์, หลังคาและกระเบื้อง, แกรนิตและหินอ่อน, เซรามิกส์, ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ก๊าซ, พลังงานทดแทน, อลูมิเนียม, และเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยหลักที่นำมาใช้คำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายรวมลดลง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวลดลง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยได้รับผลดีจากปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ และยอดขาย โดยเฉพาะยอดขายที่กระเตื้องขึ้นทั้งตลาดในประเทศ ที่ได้รับผลบวกจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง และตลาดต่างประเทศได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผลกระทบด้านราคาน้ำมันในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมองว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมน้อยลงกว่าเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เริ่มมีทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อันดับต่อมาผลกระทบจากการเมือง ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีการแข็งค่ามากขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น และควรผ่อนคลายกฏระเบียบในการปล่อยสินเชื่อลง ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยอย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเหมาะสมอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ควรปรับลดภาษีนำเข้าในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีมาตรการส่งเสริมการส่งออก หาแหล่งเงินกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ยังปล่อยกู้ให้ภาคอุตสาหกรรมน้อย ทำให้เงินทุนไม่เพียงพอต่อการนำไปลงทุน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ