โรคเหงือก...เพชฌฆาตเงียบ..ที่ทำให้สูญเสียฟันโดยไม่รู้ตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday June 23, 2009 14:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--โฟร์ฮันเดรท สมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศไทย เผยพบ 4 ใน 5 ของเด็กไทยเป็นโรคเหงือกอักเสบ และ 2 ใน 5 คนไทย วัย 40 ปีขึ้นไป มีปัญหาโรคเหงือกขั้นลุกลาม ที่ทำลายกระดูกรอบฟันที่เรียกว่าโรคปริทันต์อักเสบ พร้อมเผยการติดเชื้อเรื้อรังในช่องปากจากโรคปริทันต์อักเสบยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเพิ่มความเสียงต่อการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด ทำให้คนไข้เบาหวานควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก และ ในหญิงมีครรภ์ยัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดทารกก่อนกำหนดด้วย แพทย์แนะควรตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก่อนที่จะสูญเสียฟันที่คุณรักโดยไม่รู้ตัว ทันตแพทย์หญิง ดร.กนกวรรณ นิสภกุลธร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปริทันต์ สมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศ กล่าวว่า โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ มีสาเหตุมาจากการขาดการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์และหินปูน คราบจุลินทรีย์ประกอบด้วยเชื้อโรคจำนวนมากที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ โดยมีอาการคือเหงือกบวม แดง มีเลือดออกได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแปรงฟัน หากไม่ได้รับการรักษา ก็จะลุกลามจนทำลายกระดูกรอบรากฟัน จนฟันโยกและต้องถอนฟันในที่สุด โรคปริทันต์อักเสบเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนต้องสูญเสียฟัน ทั้งที่สามารถป้องกันได้ง่ายโดยการแปรงฟันร่วมกับการใฃ้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธี โรคปริทันต์เป็นโรคเกิดกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ทั้งที่สามารถป้องกันได้ง่ายโดยการทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี จากการสำรวจของกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 12 ปี เป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือ โรคเหงือกอักเสบแล้วถึงร้อยละ 80 หรือ 4 ใน 5 ของเด็กไทย และกลุ่มวัยทำงานเป็นโรคปริทันต์อักเสบถึงร้อยละ 40 หรือ 2 ใน 5 คนไทย วัย 40 ปีขึ้นไป และเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 80-90 ในผู้สูงอายุ โรคปริทันต์นอกจากทำให้เกิดการสูญเสียฟันแล้ว การติดเชื้อเรื้อรัง ในช่องปากจากโรคปริทันต์อักเสบยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเพิ่มความเสียงต่อการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด ทำให้คนไข้เบาหวานควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก และ ในหญิงมีครรภ์ยัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดทารกก่อนกำหนดด้วย ทางด้านทันตแพทย์สุนทร อัศวานันท์ ผู้อำนวยการ คลินิกทันตกรรมอัศวานันท์ กล่าวว่า “ฟันไม่เหมือนอวัยวะอื่นที่สามารถกินอาหารหรืออาหารเสริมเพื่อบำรุงให้ฟันแข็งแรงได้ เช่น ถ้าตาหรือหัวใจเสื่อมอาจหาอาหารหรืออาหารเสริมมากินบำรุงตา มากินบำรุงหัวใจได้ แต่ฟันไม่มีอาหารเสริมใดช่วยได้ สิ่งเดียวที่จะทำให้ฟันแข็งแรงอายุยืนยาวก็คือ การดูแลสุขภาพฟันอย่างถูกต้องมาตั้งแต่วัยรุ่น ถือเป็นการลงทุนที่ดีแต่อายุน้อยๆ เพราะเมื่อฟันมีปัญหาจะเสียเงินในการบำรุงรักษาเป็นจำนวนมาก สุดท้ายก็ต้องใส่ฟันชุดที่สาม” ควรเลือกใช้แปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม และแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการสึกของฟันคืออาหารที่มีความเป็นกรดสูง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำหลังจากรับประทานอาหารทุกครั้งเพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก และไม่ควรแปรงฟันทันที (รออย่างน้อย 30 นาที) เนื่องจากผิวฟันจะมีสภาพอ่อนนุ่มเป็นผลให้ฟันมีการสึกมากขึ้น และไม่ควรแปรงฟันแรงและนานเกินไป และไม่ควรใช้ยาสีฟันที่มีเนื้อหรือผงขัดหยาบ ทันตแพทย์สุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลรักษาสุขภาพฟันนั้นควรทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตั้งแต่อายุยังน้อยๆ ตั้งแต่ฟันแท้ขึ้น คือพอสักประมาณ 10 กว่าขวบก็ต้องพยายามดูแลเพื่ออนาคตของฟันที่ดี “การดูแลให้สุขภาพที่ดีก็เหมือนการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันราคาค่อนข้างสูงหากไม่ดูแลดีตั้งแต่แรกพออายุ 40 กว่าฟันจะเริ่มมีปัญหาและใช้งบประมาณในการฟื้นฟูเป็นหลักหลายหมื่นบาททีเดียว แต่ถ้าดูแลสะสมแต้มไปเรื่อยๆ ก็ไม่ต้องใช้เงินก้อนโตในอนาคต” - ช่วงอายุ 10-14 ปี ฟันแท้กำลังขึ้นเต็มที่ การเจริญเติบโตของฟันยังไม่หยุด หากมีปัญหาเรื่องฟัน เช่น ฟันห่าง ฟันเหยิน การสบฟันไม่ดีจะดูแลแก้ไขได้ง่าย ซึ่งเป็นช่วงที่ใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่มากที่สุด - ช่วงอายุ 17-18 ปี มักมีปัญหาเรื่องฟันคุด ให้เริ่มเน้นสุขภาพฟันได้แล้ว - อายุ 20 ปีขึ้นไป มักมีปัญหาเรื่องสีฟัน ฟันไม่ขาวไม่สวย บางคนอาจเริ่มสูบบุหรี่ทำให้ฟันเหลืองเป็นคราบ อาจต้องมีการฟอกสีฟัน - อายุ 35 ปีขึ้นไป มักมีปัญหาฟันผุ เหงือกอักเสบ เหงือกร่น คอฟันสึก หากดูแลไม่ทั่วถึง กระดูกและรากฟันจะเริ่มมีปัญหา ทันตแพทย์สุนทร กล่าวปิดท้ายว่า ควรดูแลปัญหาเรื่องปาก ฟัน และเหงือก อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือควรตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่างน้อยเพื่อขัดหินปูนจะช่วยยืดอายุการใช้งานฟันได้ดีขึ้น เพราะสุขภาพฟันที่ดีต้องเริ่มที่ตัวเอง และไม่มีอาหารเสริมใดๆ จะช่วยบำรุงฟันให้ดีได้นอกจากตัวคุณเอง นำเสนอข่าวโดยบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด สอบถามเพิ่มเติมที่ คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง (คุณแป๋ง) โทร. 081-913-1291, 02-553-3161-3

แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ