กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สป.พม.
พม. เผยสถิติหญิงไทยถูกทารุณกรรมจากสามี ติด ๑ ใน ๑๐ ของโลก ระบุยอดผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ที่อยู่ในความดูแลของ พม. ปี ๕๑ สูงเกือบ ๒ พันราย ชวนพลังแม่สร้างครอบครัวอบอุ่น เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด สู่ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายหลังจากเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “พลังแม่ พลังครอบครัว เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด” ว่า จากการสำรวจ ๖๐๐ ครอบครัวในกรุงเทพฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี ๒๕๔๔ พบว่า มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวร้อยละ ๒๙ หรือครอบครัวไทยประมาณ ๑๘.๑ ล้านครอบครัว จะมีครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงถึง ๕.๒๔ ล้านครอบครัว และจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ปี ๒๕๕๐ มีอาชญากรรมเพิ่มจากเดิม ๘ ประเภท เป็น ๑๓ ประเภท โดย ๘๕% เป็นผู้กระทำความผิดที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น แตกแยก พ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ไม่มีเวลาเลี้ยงดูและโอนภาระการอบรมบ่มนิสัยให้กับสถาบันการศึกษาแทน ประกอบกับสิ่งแวดล้อมที่ขาดการควบคุม เช่น สถานบริการ ร้านเกมส์ สื่อลามกอนาจาร เป็นต้น
“จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พบว่า มีเด็กและสตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรง เข้ารับบริการในบ้านพักเด็กและครอบครัว และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ใน ปี ๒๕๕๑ มีจำนวนถึง ๑,๗๖๓ ราย และสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้วิเคราะห์ว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง ๓๖,๖๘๗ ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๕ ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นอกจากนี้ ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ปี ๒๕๔๙ พบหญิงไทยถูกทารุณกรรมจากสามีติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ ของโลก คือ บังกลาเทศ บราซิล เอธิโอเปีย ญี่ปุ่น นามิเบีย เปรู ซามัว เซอร์เบีย ไทย และแทนซาเนีย” นายอิสสระ กล่าว
นายอิสสระ กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนชาติว่าด้วย สิทธิเด็กและสตรีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยเน้นการบูรณาการสหวิชาชีพระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การแก้ปัญหาสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี อยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมความเข้มแข็งในระดับตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศโดยรวม นำไปสู่แนวนโยบายครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง และได้มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๐ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกการทำงานสหวิชาชีพตั้งแต่ระดับชาติ / ระดับจังหวัด / ระดับอำเภอ / ระดับชุมชน โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเป็นจุดรองรับ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการบูรณาการสหวิชาชีพ ในการบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา การคุ้มครองทางกฎหมาย รวมทั้งการป้องกันโดยเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และร่วมกันสร้างชุมชนที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างมีคุณภาพ
“ในบริบทของครอบครัว เมื่อสมาชิกครอบครัวประสบปัญหา แม่จะเป็นบุคคลแรกที่ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาดูแลแก้ไขบรรเทาทุกข์ แม่จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้น กับสมาชิกครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนในเรื่องอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรม ดังนั้น การรวมตัวเป็นเครือข่ายแม่รักลูก และร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว ชุมชน เพื่อดูแลลูกหลานในครอบครัว ชุมชนของเรา จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้สถาบันครอบครัวเกิดความเข้มแข็ง เป็นรั้วป้องกันให้กับสมาชิกครอบครัวห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขได้อย่างดีที่สุด” นายอิสสระ กล่าว