กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--สป.พม.
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “พลังแม่ พลังครอบครัว เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด” ว่า ปัจจุบันสถาบันครอบครัวอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอลง โดยมีโครงสร้างครอบครัวเดี่ยว และสร้างครอบครัวจากความไม่พร้อมหรือไม่ตั้งใจมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวลดลง ครอบครัวที่เคยเป็นเกราะป้องกันภัย ดูแลบุคคลในครอบครัวและเยาวชนแทบจะหมดบทบาทลง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหายาเสพติด ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดทั้งการค้า การเสพในกลุ่มเด็กเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นความจริงที่ต้องยอมรับและต้องจริงจังกับการหามาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะเจ้าภาพหลักดำเนินงานตามยุทธศาสตร์รั้วครอบครัว ได้บูรณาการร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้มแข็งครอบครัว ๒๒ หน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์รั้วครอบครัว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเน้นการทำงานร่วมกับครอบครัวที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ครอบครัวที่มีแนวโน้มต่อปัญหายาเสพติด และครอบครัวทั่วไป ถึง ๔ แผนงาน ประกอบด้วย
๑) แผนงานช่วยเหลือ บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนา แก่ครอบครัวที่มีสมาชิกครอบครัวถูกจับกุม หรือเข้าไปบำบัดรักษาในทุกระบบ หรือใช้หรือติดยาเสพติด จำนวน ๑๘๘,๗๗๐ ครอบครัว
๒) แผนงานส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ป้องกันปัญหายาเสพติด แก่ครอบครัวที่มีแนวโน้มต่อปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง ประมาณ ๕ ล้านครอบครัว
๓) แผนงานรณรงค์ประชาสัมพันธ์กับครอบครัวทั่วไป ประมาณ ๑๓ ล้านครอบครัว เพื่อให้ความรู้ในการป้องกันปัญหายาเสพติด สร้างครอบครัวสีขาว หรือครอบครัวเข้มแข็ง ห่างไกลปัญหายาเสพติด และจัดกิจกรรมสร้างสรรค์โดยเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวเป็นสำคัญ
๔) แผนงานเสริมสร้างกลไกด้านพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัวระดับพื้นที่ โดยมีศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) จำนวน ๔,๒๕๒ ศูนย์ เป็นกลไกการทำงาน
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้มแข็งครอบครัว (รั้วครอบครัว) ได้กำหนดเป้าหมายความสำเร็จไว้ที่ ๑๐% ของครอบครัวกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ สามารถดำเนินการในกลุ่มครอบครัวที่เข้าไปเกี่ยวข้องฯ จำนวน ๕,๙๗๒ ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ๓๑.๗๗ ของกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มครอบครัวที่มีแนวโน้มต่อปัญหายาเสพติด จำนวน ๗๖๒,๕๗๐ ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ ๑๕๒.๕๑ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด และกลุ่มครอบครัวทั่วไป จำนวน ๑,๐๒๖,๒๗๕ ครอบครัว คิดเป็นร้อยละ ๗๘.๙๔ ของกลุ่มเป้าหมาย และในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนรณรงค์ป้องกันปัญหายาเสพติด ภายใต้โครงการ “พลังแม่ พลังครอบครัว เป็นรั้วป้องกันยาเสพติด” พร้อมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญของครอบครัวเพื่อเป็นรั้วป้องกันไม่ให้สมาชิกครอบครัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอบายมุขอีกต่อไป