ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านการงบประมาณ Asain OECD Senior Budget Officials Meeting ครั้งที่ 3

ข่าวทั่วไป Thursday December 14, 2006 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สำนักงบประมาณ
"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านการงบประมาณ Asain OECD Senior Budget Officials Meeting ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค.2549 ณ โรงแรมดุสิตธานี"
Asian OECD Senior Budget Officials Meeting 2006
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) จะให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการทางวิชาการด้านการงบประมาณ Asian OECD Senior Budget Officials Meeting 2006 ครั้งที่ 3 ซึ่งสำนักงบประมาณจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ OECD (Organization For Economics Co-operation and Development) ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2549 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจาก WORLD BANK International Monetary Fund (IMF) และประเทศต่าง ๆ 25 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เป็นต้น
หัวข้อการประชุม Asian OECD Senior Budget Officials Meeting 2006 ครั้งที่ 3 มีทั้งหมดด้วยกัน 6 หัวข้อ ได้แก่
1. การปฏิรูประบบงบประมาณ (Budgeting Reforms — Myths and Realities)
2. บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ (Roles of the Legislature in the Budget Process)
3. ระบบงบประมาณของประเทศสิงคโปร์ (Budgeting in Singapore)
4. การประเมินความเสี่ยงทางการคลังโดยการประมาณการงบประมาณระยะยาว (Assessing Fiscal Risks Through Long — Term Budget Projections)
5. การจัดทำงบประมาณจากบนลงล่าง (Top-down Budgeting)
6. ข้อมูลล่าสุดของการบริหารรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย (Progress Report on Thailand Public Expenditure Management: PEM)
การปฏิรูประบบงบประมาณ (Budgeting Reforms — Myths and Realities) จะพูดถึงการดำเนินการปฏิรูปงบประมาณใน 2 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน (Performance Budgeting) และ การจัดทำงบประมาณแบบเกณฑ์คงค้าง (Accrual Budgeting) ซึ่ง Professor Allen Schick จากสถาบัน Brooking วอชิงตัน ดี ซี จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องดังกล่าว และจะมีการเปิดเวทีเพื่อการอภิปรายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการปฏิรูปงบประมาณ รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น
หัวข้อการประเมินความเสี่ยงทางการคลังโดยการประมาณการงบประมาณระยะยาว (Assessing Fiscal Risks Through Long — Term Budget Projections) ที่จะนำเสนอโดย Mr. Barry Anderson ผู้บริหารของ OECD ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ใช้กันมากที่สุดเพื่อแสดงให้เห็นการประมาณการระยะยาวด้านการเงินการคลังของประเทศ รวมถึงการวิเคราะห์งบดุล (Balance Sheet) การนำเสนอค่าการคำนวณของค่าขาดดุลที่คาดการณ์ได้ การวิเคราะห์ช่องว่างการคลัง (Fiscal gap) ซึ่งทำให้เกิดความสนใจในผลผลิตของการจัดทำงบประมาณระยะยาวขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นไปในอนาคตเป็น 25, 50, 75 ปี
หัวข้อถัดมาคือ การจัดทำงบประมาณจากบนลงล่าง (Top — Down Budgeting) เป็นการจัดทำงบประมาณที่นำมาปฏิบัติกันมากขึ้น วัตถุประสงค์ของการทำงบประมาณแบบนี้คือต้องการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการใช้จ่ายสาธารณะ การทำงบประมาณแบบนี้จะแสดงงบประมาณที่สะท้อนงานที่มีระดับความสำคัญด้านนโยบายทางการเมืองสูงที่ดีกว่า ซึ่งประเทศสมาชิก OECD จะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติจากการทำงบประมาณแบบบนลงล่าง ตลอดจนการกำหนดวงเงินงบประมาณระดับด้าน (Sector) และระดับกระทรวง (Ministry)
นอกจากนี้มีหัวข้อเรื่อง ระบบงบประมาณของประเทศสิงคโปร์ (Budgeting in Singapore) โดยรวม และบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ (Roles of Legislature in the Budget Process) รวมทั้งข้อมูลล่าสุดของการบริหารรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย (Progress Report on Thailand Public Expenditure Management: PEM)
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์) กล่าวว่าการประชุม Asian OECD Senior Budget Officials Meeting 2006 ในครั้งนี้ รัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐจะได้เพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อนำมาใช้ในการบริหารกิจกรรมด้านการเงินการคลังของประเทศไทย อีกทั้งการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ยังเป็นบันไดอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ OECD ต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ