วันนี้คุณรู้จักเอ็กซ์เอ็มแอล (XML) ดีแล้วหรือยัง?

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 24, 2009 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ไอบีเอ็ม โดย นางเจษฏา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ปัจจุบัน เทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอล (EXtensible Markup Language — XML) ถือเป็นมาตรฐานแบบเปิดที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในโลกของเว็บในปัจจุบัน เอ็กซ์เอ็มแอลใช้เทคโนโลยีแบบแท็ก (Tag) เช่นเดียวกับเอชทีเอ็มแอล (HTML) และทำงานโดยไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการหรือเทคโนโลยีผูกขาดใด ๆ ในการนำเสนอข้อมูล กล่าวอย่างง่ายก็คือ เอ็กซ์เอ็มแอล ช่วยให้คุณสามารถสร้างข้อมูลที่ทุกโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ สามารถอ่านได้ นั่นเอง ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณต้องการใช้เอ็กซ์เอ็มแอลเพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่ง ธุรกรรมดังกล่าวอาจเริ่มต้นด้วยการถูกสร้างจากเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของพนักงานขายและถูกส่งต่อไปยังแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และในท้ายที่สุดก็จะถูกส่งต่อมาจัดเก็บอย่างถาวรบนเครื่องเมนเฟรมของสำนักงานใหญ่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวต้องทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นที่แตกต่างกันในคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง แต่ในกรณีที่ข้อมูลนั้นถูกจัดเก็บในรูปแบบของเอ็กซ์เอ็มแอล นอกจากจะไม่มีปัญหาเรื่องการที่ข้อมูลจะไม่สามารถทำงานร่วมกันระหว่างแอพพลิเคชั่นที่แตกต่างกันได้แล้ว ยังไม่มีปัญหาในการเรียกใช้ข้อมูลดังกล่าวต่อมา แต่อย่างใดอีกด้วย นอกเหนือไปจากนั้น ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเอ็กซ์เอ็มแอลก็คือ เมื่อคุณเข้าใจโครงสร้างของมันอย่างถ่องแท้แล้ว คุณก็สามารถใช้งานเอ็กซ์เอ็มแอลได้อย่างสะดวกง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีหลายๆ วิธีที่คุณจะสามารถควบคุมโครงสร้าง และแม้กระทั่งเนื้อหาของข้อมูลผ่านทางเอ็กซ์เอ็มแอล เนื่องจากเอ็กซ์เอ็มแอลเป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลไฟล์คอนฟิกูเรชั่นของระบบในองค์กร เว็บเซอร์วิส หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งสำหรับเอ็กซ์เอ็มแอลก็คือ ความสามารถในด้านการจัดเก็บข้อมูล ทั้งนี้เพราะเอ็กซ์เอ็มแอลสามารถใช้งานได้ดีทั้งข้อมูลในรูปแบบดาต้า (เช่น ข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล) และข้อมูลในรูปแบบเอกสาร (เช่น ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในเอ็กซ์เอ็มแอล เพื่อให้คุณสามารถแสดงผลของการประมวลข้อมูลในรูปแบบและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ) พอดแคสต์ (Podcast) และการรวบรวมข้อมูลข่าวสารอื่นๆ อีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายที่สุดสำหรับการใช้งาน เอ็กซ์เอ็มแอล ในปัจจุบันก็คือ การรวบรวมข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาจากเว็บไซต์ (Syndication) ปัจจุบัน ผู้ใช้บล็อกหลายล้านคนนิยมใช้ฟีดอาร์เอสเอส (Really Simple Syndication- RSS) เพื่อติดตามข้อมูลล่าสุดบนบล็อกที่ตนเองโปรดปราน รวมทั้งเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากพอดแคสต์ (Podcast) หรือการเผยแพร่เสียงและวิดีโอผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ไอพ๊อด (iPod) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลทั้งสิ้น นอกจากนั้น โดยทั่วไป คุณยังมีโอกาสพบ เอ็กซ์เอ็มแอล ได้จากเบื้องหลังแอพพลิเคชั่นยอดนิยมและสภาพแวดล้อมในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ โดย เอ็กซ์เอ็มแอลมักถูกใช้ในการสร้างไฟล์เพื่อกำหนดค่าคอนฟิกูเรชั่นหรือคำสั่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การระบุคำสั่ง หรือการกำหนดค่าไว้ในไฟล์เอ็กซ์เอ็มแอลที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดค่าดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมลักษณะการทำงานของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นนั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความนิยมที่ผู้ใช้บล็อกปัจจุบันมักจะจัดหา “ฟีด” (Feed) ที่แสดงข้อความที่โพสต์ไว้ล่าสุดบนเว็บพร้อมด้วยลิงค์ที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปยังเนื้อหาข้อมูลเดิม ฟีดเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอช่องทางใหม่ ๆ ในการโฆษณา รวมถึงการเผยแพร่เสียงและ/หรือวิดีโอ หรือพอดแคสต์ ซี่งปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ซึ่งทั้งนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วฟีดเหล่านี้ก็ถูกจัดเก็บในรูปแบบของเอ็กซ์เอ็มแอลเช่นเดียวกัน การใช้งาน เอ็กซ์เอ็มแอล เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา ทุกวันนี้ คุณยังสามารถพบเอ็กซ์เอ็มแอลได้อย่างแพร่หลายในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ในด้านการพิมพ์ การเข้ารหัสข้อมูล หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการจำเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ของคุณ สืบเนื่องจาก เอ็กซ์เอ็มแอลไม่ได้ทำงานขึ้นกับแพลตฟอร์มและภาษาทางด้านโปรแกรมมิ่งใดๆ ดังนั้นคุณจึงสามารถใช้เอ็กซ์เอ็มแอลได้กับทุกภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม แม้ว่าคุณจะปรับใช้สถาปัตยกรรมเอสโอเอ (Service Oriented Architecture - SOA) ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ก็ตาม วิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากก็คือ การใช้เว็บเซอร์วิส ซึ่งก็หนีเอ็กซ์เอ็มแอลไม่พ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น เอ็กซ์เอ็มแอล ยังถือเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีใหม่ๆ อื่น ๆ อีก เช่น ในขณะที่เสิร์ชเอนจิ้นได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และโลกของเว็บกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของซีแมนทิคเว็บ (Semantic Web) เอ็กซ์เอ็มแอลก็จะช่วยให้เว็บมาสเตอร์สามารถใส่ข้อมูลที่มีความหมายไว้ในเว็บเพจและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย หรือแม้กระทั่งระบบประมวลผลแบบกริด (Grid Computing) และระบบประมวลผลแบบอัตโนมัติ (Autonomic Computing) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เอ็กซ์เอ็มแอลก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน สำหรับในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ปัจจุบันซอฟต์แวร์ดีบีทู (DB2) ของไอบีเอ็มสามารถรองรับการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลเชิงสัมพันธ์ที่อ้างอิงมาตรฐานเอสคิวแอล (SQL) และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล เช่น การแบ่งพาร์ติชั่นข้อมูล และการทำดัชนีขั้นสูง รวมทั้งเทคนิคการปรับปรุงเคียวรี่ (Query) ซึ่งรองรับการทำงานของข้อมูลที่จัดเก็บมาแบบเอ็กซ์เอ็มแอลอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย ระบบประมวลผลแบบกริด (Grid Computing) และระบบประมวลผลแบบอัตโนมัติ (Autonomic Computing) ปัจจุบัน ในขณะที่โลกของเรามีเล็กและแบนลงเรื่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม ระบบคอมพิวเตอร์กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเป็นเพราะองค์กรต่าง ๆ เริ่มเห็นประโยชน์จากการผนวกรวมระบบต่างๆ เข้าด้วยกันไว้บนระบบเดียวที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อเพิ่มพลังการประมวลผล และประหยัดค่าใช้จ่าย และทั้งนี้ เนื่องจาก เอ็กซ์เอ็มแอลสามารถทำงานได้บนทุกแพลตฟอร์ม เอ็กซ์เอ็มแอลจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำงานที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ในสภาวะแวดล้อมที่มีการทำงานของหลายแพลตฟอร์ม กล่าวโดยสรุปก็คือ เอ็กซ์เอ็มแอล นอกจากจะมีประโยชน์จากฟังก์ชั่นต่างๆ รวมทั้งมีจุดเด่นในเรื่องการทำงานที่ไม่ผูกขาดกับเทคโนโลยีใด ๆ แล้ว ยังถือเป็นภาษาที่ไม่มีความซับซ้อนและใช้งานง่ายอีกด้วย นอกจากนั้น ผู้ใช้ก็ยังสามารถเรียนรู้หลักการพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว และใช้เอ็กซ์เอ็มแอล เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ปัจจุบันจึงถือได้ว่า เทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อโลกอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ปริมาณข้อมูลมีการเพิ่มอย่างรวดเร็วและต้องการการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเอง เผยแพร่โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์: 0-2273-4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ