กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้กรีนพีซเรียกร้องประเทศในกลุ่มอาเซียนให้กำหนดเวลาเลิกดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเร่งด่วน และลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในงานแถลงข่าวเปิดเผยรายงาน “ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของการสูญเสียเจริญ วัดอักษร แกนนำชุมชนบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินประสบผลสำเร็จ แม้ต้องแลกมาด้วยชีวิต
“ถ่านหินไม่ได้มีต้นทุนต่ำอย่างที่ราคาตลาดตั้งไว้ เนื่องจากต้นทุนดังกล่าวไม่ได้รวมผลกระทบอันน่ากลัวของถ่านหินเข้าไปด้วย ผลกระทบดังกล่าวเป็น “ต้นทุนผลกระทบภายนอก” ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงมหันตภัยที่ร้ายกาจที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ อย่างเช่น ผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ อุบัติเหตุระหว่างการทำเหมือง ฝนกรด มลพิษหมอกควัน ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง และมหันตภัยเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจย้อนกลับเป็นเหมือนเดิมได้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชาชนหลายล้านชีวิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นภายในปี 2593 หากขาดการลงมือปฏิบัติ ประเทศในกลุ่มอาเซียนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใหม่ ในด้านวิธีใช้ ผลิต จัดเก็บ และ แจกจ่ายพลังงาน ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน
กรีนพีซเชื่อว่าองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่เสริมศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน คือ การลดความต้องการใช้พลังงาน โดยการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงาน ได้แก่ การใช้งานเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการพิสูจน์แล้วเพิ่มสูงขึ้น และการกำหนดเวลาเลิกดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินในทันที แล้วแทนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ การดำเนินการปฏิวัติพลังงานรูปแบบนี้ในภาคพลังงาน สามารถช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเหลือเท่ากับร้อยละ 37 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกของปี 2533 ได้ภายในปี 2593
“เราต้องการข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจในทันที ลดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะ และลดสาเหตุของความไม่มั่นคงระดับโลก เช่น ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน และการแข่งขันด้านทรัพยากร ในปัจจุบัน มีงานที่ “มิได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ในภาคพลังงานหมุนเวียน อย่างน้อย 2.3 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นไปสู่มากกว่า 20 ล้านตำแหน่ง เห็นได้ชัดเจนว่ามาตรการกระตุ้นในระยะสั้นสามารถทำให้เกิดการจ้างงานในระยะสั้น และก่อให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาวด้านเศรษฐกิจ นโยบายที่ถูกต้องและการตัดสินใจลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะทำให้เป็นไปได้สูงมากที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายธารากล่าวสรุป
นอกจากนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันวิจัยสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานเพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ และ กลุ่มท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก-กุยบุรี กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และ เครือข่ายติดตามผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน ยังได้ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะขึ้น เพื่ออภิปรายถึงต้นทุนจริงของถ่านหินในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"การขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อนของอุตสาหกรรมถ่านหิน เป็นภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงอย่างเดียวต่อการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อันตราย ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ใน 3 ส่วนของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด และคาดการณ์ว่าอัตราการปล่อยจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 เห็นได้ชัดเจนว่า การหยุดใช้ถ่านหิน ไม่เพียงจะเกิดผลดีต่อสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนอีกด้วย” สุรีรัตน์ แต้ชูสกุล ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว
หมายเหตุ
ศึกษารายงาน “ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน” ฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/true-cost-of-coal-thai
บทสรุป "ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน" ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/true-cost-of-coal-briefing
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ช่วยผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร.089 002 7660
www.greenpeace.or.th
Wiriya Kingwatcharapong
Media Campaigner
Greenpeace Southeast Asia, Thailand
Tel +66 (0)2 357 1921 # 115
Fax +66 (0)2 357 1929