“ปัญญาสมาพันธ์ฯ” เผยผลวิจัยความเห็นสาธารณะประเด็น “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” พบคนไทยพร้อมฝ่าวิกฤต?วอนรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น !!

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2009 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--โพลีพลัส พีอาร์ “ปัญญาสมาพันธ์ฯ” เกิดจากการรวมตัวกันของคณาจารย์และนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำกว่า 10 แห่งทั่วประเทศที่มีเป้าประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิจัยความคิดเห็นของประชาชนไทยแล้วนำผลการศึกษาที่ได้มาเผยแพร่เพื่อมุ่งสร้างความเจริญให้ประเทศ ร่วมกับ องค์กรชั้นนำอย่าง“ ซีพี ออลล์” ที่เห็นความสำคัญของงานวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้เผยผลการวิจัยความเห็นสาธารณะของประชาชนไทย ในประเด็น “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” ซึ่งได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 8,000 ตัวอย่าง คือครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน 2551 และครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม 2552 โดยกลุ่มตัวอย่างในเขตเมือง ได้รับความร่วมมือให้สอบถามได้บริเวณหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีมากกว่า 5,000 สาขา และกลุ่มเป้าหมายในเขตชนบทเป็นการสอบถามตัวอย่างในเขตขุมชนทั่วภูมิภาคของประเทศ รศ.ดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบาย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัญญาสมาพันธ์ฯ เกิดจากกการรวมตัวของนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลาย สถาบันการศึกษาชั้นนำ โดยเจตนารมณ์คือ ค้นคว้า วิจัย ศึกษาความคิดเห็นและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ที่ผ่านมาได้จัดทำผลสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค ครั้งที่ 1” เมื่อเดือนเมษายน 2551 ปรากฎว่า ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักธุรกิจ, นักการเมือง และสื่อมวลชน ใช้ผลการวิจัยและสำรวจความคิดเห็นเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเชิงธุรกิจและดำเนินชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นในปี 2552 ที่ประชุม “ปัญญาสมาพันธ์ฯ” เห็นพ้องกันให้ดำเนินการวิจัยและสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นวิจัย “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” ระหว่างวันที่ 23 — 27 พฤษภาคม 2552 โดยใช้ข้อคำถามและกระบวนการสุ่มตัวอย่างเช่นเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากการสำรวจสภาพการเงินของคนไทยในปีปัจจุบันและปีที่ผ่านมา ผศ.ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คนไทยคิดว่าฐานะทางการเงินแย่กว่าปีที่แล้วอย่างชัดเจน และคนที่คิดว่าสภาพทางการเงินของตนดีขึ้นก็ลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเศรษฐกิจของไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าคงไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็มีอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้วิเคราะห์เชิงลึกในประเด็นปัญหาค่าใช้จ่ายพบว่าคนไทยเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ลดลงในปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 และปัญหาค่าใช้จ่ายหลายด้านลดระดับความสำคัญลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง / ไฟฟ้า / ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ / รักษาโรคของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว น่าจะสะท้อนในเชิงนัยว่า นโยบายรัฐบาลที่อุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ให้แก่ประชาชน กอปรกับระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ลดแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในด้านนี้ไปได้ นอกจากนั้น นโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้เรียนฟรีที่เริ่มมีผลในช่วงเวลาของการสำรวจในปี 2552 ได้ลดแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของตนเองและสมาชิกในครอบครัวลงไปได้ ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ได้เจาะลึกผลการสำรวจ พบว่า ความทุกข์ ความสุข ของคนไทยเมื่อปีที่แล้ว(2551) เทียบกับปีนี้(2552) อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เห็นว่า ความสุขและความทุกข์ของปีที่แล้วกับปีนี้อยู่ในระดับที่ “พอๆ กัน” เป็นที่น่าสังเกตว่า 21% ของวัยทำงานอายุ 31-50 ปี ปีที่แล้วมีความสุขมากกว่าปีนี้ ในขณะที่ 25% ของวัยรุ่น อายุ 18-30 ปี เห็นว่าปีที่แล้วมีความสุขน้อยกว่าปีนี้ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 31% ในภาคเหนือและภาคอีสานเห็นว่าปีที่แล้ว มีความสุขมากกว่าปีนี้ ในขณะที่คนที่อยู่ในเมืองตอบว่าปีที่แล้วมีความสุขน้อยกว่าปีนี้ แต่คนในชนบทกลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม สำหรับการการมองหาโอกาสในชีวิตและการคลายเครียดเพื่อบรรเทาความวุ่นวายใจในสภาวะวิกฤตนั้น พบว่าประชาชนได้พึ่งพาการ “ดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิต” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสวนกระแสกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ที่ใช้บริการหมอดูน้อยลง เพศชายจะดูดวงลดลงไปถนัดตาเมื่อเทียบกับเพศหญิง สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจกับเพศหญิงมากกว่า การสำรวจในครั้งนี้ยังได้สอบถามถึงความพยายามในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของคนไทย พบว่ากลุ่มคนที่จะใช้เวลาทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น มีจำนวนลดลงจากปีที่แล้ว โดยเพศหญิงเป็นฝ่ายถอดใจง่ายกว่า อาจเป็นเพราะปัญหาการเลิกจ้างในปีนี้มีแรงงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่อย่างไรก็ดีกลุ่มคนที่มีอายุงานค่อนข้างมาก คือกลุ่มอายุ 51-60 ปี อยากใช้เวลาในการทำงานสร้างรายได้มากขึ้น การที่คนไทยใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ลดลงนี้ อาจมองว่าความดิ้นรนพยายามเพื่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของตัวเองลดลง แต่ในอีกทางหนึ่งอาจสะท้อนว่าสภาพการณ์ปัจจุบันเหลือช่องทางเพื่อให้คนดิ้นรนหาทางแก้ปัญหาลดน้อยลง ทั้งนี้อาจรวมถึงผลกระทบจากการปลดพนักงาน และการชะลอการจ้างงาน อาจารย์ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นภาพปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการมีความสุขของประชาชนไทย ภาพรวมพบว่าในช่วงวันหยุดของเทศกาลสงกรานต์ปีใดที่ประชาชนได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ในปีนั้นผู้ที่ได้เที่ยวจะมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ไป (30% ของกลุ่มที่ได้ไปเที่ยวในปี 2551 ตอบว่า ปี 2551 มีความสุขมากกว่าปีนี้ ในขณะที่ 26% ของกลุ่มที่ได้ไปเที่ยวในปี 2552 ตอบว่า ปี 2552 มีความสุขมากกว่าปีที่แล้ว) เป็นที่น่าให้ความสนใจอย่างยิ่ง เมื่อได้วิเคราะห์เฉพาะกลุ่มคนวัยสูงอายุที่รัฐและสังคมทั่วไปมักจะวางบทบาทให้ท่านเป็นผู้ที่ต้องนั่งรอลูกหลานไปเยี่ยมเยือนที่บ้านในช่วงเวลาของวันครอบครัวแห่งชาตินั้น ในความเป็นจริงพบว่า กลุ่มผู้สูงวัยที่กล่าวว่า มีความสุขในปีนี้มากกว่าปีที่แล้วนั้น ปัจจัยหนึ่งคือท่านมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ภาพประจักษ์ในเรื่องนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นโอกาสของการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนทุกวัยทั้งครอบครัวในช่วงวันหยุดเทศกาล เมื่อภาครัฐได้ให้โอกาสมีวันหยุดสำหรับทุกคนติดต่อกันมากกว่า 4 วันแล้ว ภาคเอกชนก็น่าจะมีกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งครอบครัว มีแพคเกจห้องพักที่เป็นกลุ่มการใช้ห้องพัก 2-4 ห้องในราคาพิเศษ หรือแพคเกจที่ให้คนทุกวัยได้มีความสุขในแบบที่ตนเองกระทำได้เอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร ในหัวข้อ “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” ประจำปี 2552 ถือเป็นภาพสะท้อนสภาพจิตใจของคนไทยในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผลสรุปรวมแม้จะยังให้ภาพที่คลุมเครือว่าคนไทยมีความสุขมากขึ้น หรือทุกข์มากขึ้น แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญญาณที่ดีที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกที่ไม่แย่ลงไปกว่าเดิมแม้ในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลในปีนี้ความขัดแย้งทางการเมืองได้ถึงขีดสุดอีกครั้ง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยเริ่มเคยชินและปรับตัวให้อยู่ร่วมกับความไม่สงบเรื้อรังเหล่านี้ “อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงหน่วยงานและองค์กรเอกชนอย่าเพิกเฉย ควรร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยทุกท่านสามารถนำผลการวิจัยครั้งนี้ไปทำประโยชน์เป็นข้อมูลในการเผยแพร่หรือประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ โดยประกอบการตัดสินใจ และเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ ได้ที่ www.wport.org” รศ.ดร.จีรเดช ได้กล่าวไว้ในท้ายที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กลุ่มปัญญาสมาพันธ์ บริษัท โพลีพลัส พีอาร์ จำกัด 0-2572-4444 คุณพรจิต (จอย) 081-924-9196 , คุณนิพล (โจ้) 089-770-1411

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ