ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต ความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค ทำการสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2009 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--โพลีพลัส พีอาร์ รายงานผลการสำรวจความเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 1/2552 ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต (ความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค) ทำการสำรวจช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ดำเนินการโดย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย (The wisdom Society for Public Opinion Research of Thailand) มิถุนายน 2552 บทสรุป ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต “ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต” มีความสำคัญหรือไม่ อย่างไร คำถามนี้ ย่อมได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก และวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ไม่เฉพาะแต่มุมมองที่ว่า ความมั่นใจของคนไทยดังกล่าว จะส่งผลต่อพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร แต่อาจสะท้อนถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หากคนไทยไม่นำพาต่อนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายโดยสนับสนุนค่าครองชีพในภาวะวิกฤตคนละ 2,000 บาท เมื่อไม่เกิดความเชื่อมั่นหรือไว้ใจในแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล พฤติกรรมการใช้จ่าย และการบริโภคของคนไทยอาจสะท้อนให้เห็นด้วยการลดการใช้จ่ายหรือไม่บริโภค ประเด็นสำคัญคือ คนไทยมีความมั่นใจหรือไม่ในช่วงวิกฤต? และรัฐควรมีแนวนโยบายอย่างไรในการกระตุ้นและแก้ไขภาวะวิกฤตเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อนำพารัฐนาวาและประเทศไทยให้พ้นวิกฤตนี้ไปได้ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความเห็นของคนไทยทั่วประเทศจำนวน 8,000 ราย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหลายประการ รวมทั้งยังได้นำเสนอมุมมองในการพัฒนานโยบายสาธารณะของรัฐ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจดังนี้ คนไทยขาดความมั่นใจ! การขาดความมั่นใจนี้ลามถึงการมองว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามากินมาใช้ประจำวันยังต้องระวัง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเดือนมีนาคม 2551 พบว่า คนไทยยังไม่พะวงกับค่าใช้จ่ายประจำวันมากนัก แต่กลับให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และค่าสาธารณูปโภค ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเทียบกับ 3 เดือนที่ผ่านมา พบการเปลี่ยแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมลดการใช้จ่ายในด้านต่างๆที่ไม่จำเป็น กล่าวคือ คนไทยงดออกไปบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ร้อยละ 49) นอกจากนี้ ยิ่งน่าเป็นห่วงสำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ พบว่า คนไทยมีการลดดการพักผ่อนโดยการไปดูหนัง หรือไปคาราโอเกะ (ร้อยละ 47) และลดไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น (ร้อยละ 54) มีการซื้ออาหารสำเร็จรูปแทนการทำอาหารรับประทานเองน้อยลง รวมไปถึงการไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีมีแนวโน้มลดลง แม้ดูเหมือนจะหมดไฟ! คือ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คนไทยแรงฮึดเริ่มจืดจาง มีการใช้เวลาในการสร้างรายได้น้อยลงเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวม คนไทยไม่ได้พึ่งพิงกับการไปหาหมอดูพยากรณ์ดวงชะตามากขึ้นอย่างที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบคนในเมืองกับคนชนบท และคนกรุงเทพฯกับคนต่างจังหวัด พบว่า คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะดูดวงมากขึ้น มากกว่าคนต่างจังหวัด ทำนองเดียวกัน คนในเมืองมีแนวโน้มดูดวงมากขึ้น มากกว่าคนชนบท ทำไม? ความเครียด ความแออัด และการแข่งขันที่รุนแรงของสังคมเมือง ทำให้คนไทยกลุ่มนี้ต้องอาศัยโหราศาสตร์ช่วยมากกว่าคนชนบทหรือ และสภาพนี้จะทำให้คนในเมืองเครียดมากขึ้นจนถึงเป็นโรคจิต โรคประสาท และเลยเถิดไปถึงโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายมากขึ้นหรือไม่ คงเป็นปริศนาที่ต้องติดตามต่อไป คนไทยใช้สูตรเดิมในการประหยัด! แต่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กล่าวคือ วิธีการประหยัดในการบริโภค โดยเฉพาะด้านอาหารของคนไทย ยังอยู่ที่การบริโภคอาหารประเภทบะหมี่สำเร็จรูปมากขึ้น นอกจากนี้ มีการลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น (ร้อยละ 35.2) และซื้อเครื่องปรุงมาทำรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น (ร้อยละ 23.7) เมื่อถามถึงสภาพทางการเงินของตนเทียบกับปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร สรุปได้ว่า คนไทยคิดว่าฐานะทางการเงินของตนแย่กว่าปีที่แล้วอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน คนที่คิดว่าสภาพทางการเงินของตนดีขึ้นก็ลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นที่น่าสังเกตคือ คนไทยส่วนใหญ่เริ่มปลง ว่าเศรษฐกิจของไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าคงไม่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็มีอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลการสำรวจนี้ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อพลักฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้น 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรูปแบบต่างๆ กัน อาทิ เช็คช่วยชาติ ธงฟ้าประชาชน เบี้ยกตัญญู และประกันราคาพืชผล อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อเศรษฐกิจของประเทศในรอบ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่คาดว่าจะมีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณความไม่เชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ก็อาจเป็นข่าวดีสำหรับรัฐบาล หากจะตีความว่า เมื่อคนไทยไม่ค่อยคาดหวังอะไรจากรัฐบาลมาก ก็คงไม่คิดจะเรียกร้องอะไรจากรัฐมากเช่นกัน ประเทศไทยขอมีความหวังบ้าง! ดูเหมือนประเทศไยยังพอมีความบ้างกับความแข็งแกร่งและการหยั่งรากลึกของประเพณีวัฒนธรรมไทย แม้ว่าคนไทยจะกังวลอยู่มากกับการถูกล่วงล้ำและกลืนกินวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกและทุนนิยม และวิกฤตการเมืองช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมตามประเพณีของไทยได้ ผลสำรวจพบว่า คนไทยยังมีพฤติกรรมเช่นเดิมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการไปทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว และเล่นสาดน้ำกันตามประเพณี คนไทยมีความสุขหรือเปล่า? วิกฤตเศรษฐกิจของโลกและของไทยรุนแรง คนไทยมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาลหรือไม่ อาจเป็นเรื่องรอง แต่ที่สำคัญคือ คนไทยมีความสุขหรือเปล่า ผลการสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่า ตนมีความสุขพอๆกับปีที่แล้ว แต่ที่น่าสังเกตคือ ร้อยละ 20 จากกลุ่มตัวอย่าง 8,000 คน คิดว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่า ซึ่งความเห็นของคนกลุ่มนี้รัฐไม่ควรมองข้าม ผลสำรวจชี้ว่า ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต อยู่ในภาวะวิกฤต! คือ คนไทยขาดความมั่นใจ ผลคือ พฤติกรรมการใช้จ่ายมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยพยายามลดหรืองดการใช้จ่ายในหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคสินค้าและบริการที่ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต นอกจากนั้น พฤติกรรมเกี่ยวกับความพยายามในการประหยัดโดยการบริโภคอาหารบะหมี่สำเร็จรูป ลดการพักผ่อนหย่อนใจและรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมถึงการท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ฯลฯ พฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากรัฐพยายามกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนสร้างมูลค่าของเงิน สินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้นจากการบริโภคของคนในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น รัฐควรทำอย่างไรดี? แก้ปัญหาต้องแก้ที่เหตุ เนื่องจากคนไทยใช้จ่ายน้อยลง ก็เพราะขาดความมั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงนโยบายและมาตรการการแก้ปัญหาของรัฐบาลในด้านต่างๆ ดังนั้น รัฐควรเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อะไรคือ ความมั่นใจที่คนไทยควรมี คนไทยควรมีความมั่นใจว่า เขาจะมีงานทำ เขาจะไม่ต้องตกงานและขาดแหล่งรายได้ เขาจะโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำงาน และการลงทุน รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐทั้งทางด้านมาตรการภาษีและดอกเบี้ย คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ในภาวะวิกฤตนี้ เขาควรจะสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ทำให้ค่าครองชีพของวิถีชีวิตของเขาไม่สูงจนเกินไป คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ ประเทศของเขาไม่ควรมีภาวะแทรกซ้อนจากวิกฤตการเมืองเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือของคนบางกลุ่มบางพวก ที่สร้างความเดือดร้อนและความไม่เชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ ซึ่งคนไทยยังต้องพึ่งพิงแหล่งรายได้จากต่างประเทศทั้งด้านการท่องเที่ยวและการส่งออก คนไทยควรมีความมั่นใจว่า เงินงบประมาณ (ไม่ต้องทั้งหมดก็ได้ แต่ควรเป็นส่วนใหญ่) หมุนเวียนไปสู่คนไทย เพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นการใช้จ่าย กระตุ้นการลงทุน และเพิ่มการหมุนเวียนกระแสเงิน รวมทั้งการบริโภคสินค้าและบริการให้มากขึ้นอย่างแท้จริง แทนที่จะไปตกกับนักการเมืองหรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนไทยควรมีความมั่นใจว่า ภาวะวิกฤตไฟใต้จะลดความรุนแรงและนำไปสู่ความสงบ ไม่ลุกลามใหญ่โตไปกว่านี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความไม่มั่นใจในมาตรการรักษากฎหมายและความปลอดภัยของไทย และคนไทยควรมีความมั่นใจว่า เขาจะมีรัฐบาลที่ฉลาด เก่งและซื่อสัตย์ ที่สามารถกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างนัยสำคัญ มีความชัดเจน ตรวจวัดผลสำเร็จเชิงรูปธรรมได้ และมีขั้นตอนและกระบวนการในการปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงไม่นำพาไปสู่การสูญเปล่าของทรัพยากรและงบประมาณของประเทศ ความมั่นใจเหล่านี้ รัฐจะสร้างให้ได้หรือเปล่า? หากคำตอบคือได้ คนไทยคงมีความมั่นใจและหันมามีพฤติกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้นและเข้าสู่สภาพปรกติ นโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐก็จะบรรลุได้ง่ายขึ้น! รายงานผลการสำรวจความเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 1/2552 ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤติ โดยปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย 1. ความเป็นมา ปัญญาสมาพันธ์ก่อตั้งโดยกลุ่มนักวิชาการอิสระกลุ่มหนึ่ง มีความตั้งใจที่จะพัฒนาศาสตร์ทางด้านการสำรวจประชามติสำหรับประเทศไทยในมิติต่าง ๆ นักวิชาการอิสระเหล่านี้มีความเห็นร่วมกันว่าปัจจุบันระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ หากแต่มิติด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม และความเป็นอิสระทางความคิด รวมทั้ง กระบวนการประชาธิปไตยยังต้องการการทำความเข้าใจอีกมาก การเจริญเติบโตทางวัตถุนำมาซึ่ง ทั้งสวัสดิภาพและผลกระทบต่อสังคมโดยเฉพาะเยาวชนหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการใช้เวลาและการบริโภคที่อาจไม่สร้างสรรค์ต่อการพัฒนาประชากรที่มีศักยภาพระยะยาว ในการสำรวจประชามติของปัญญาสมาพันธ์อาศัยเครือข่ายของสมาพันธ์ที่กำหนดการกระจายของกลุ่มตัวอย่างไปตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยเลือกตัวอย่างจากจังหวัดตัวแทน ขั้นตอนของการคัดเลือกตัวอย่าง ผลที่ได้ตลอดจนรายงานเผยแพร่ ต่อสาธารณชนในวงกว้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบตรงผ่ าน website: www.wport.org 2. ผลการสำรวจประชามติครั้งที่ 1/2552 ในการสำรวจประชามติครั้งที่ 1/2552 เป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆ พฤติกรรมการบริโภค และกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต โดยดำเนินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 16 - 30 พฤษภาคม 2552 กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเท่ากับ 8,000 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง 23-40 ปี ร้อยละ 55.2 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 31.2 และระดับอาชีวะ/มัธยม ร้อยละ51.2 เป็นสำคัญ มีสัดส่วนอยู่ในเขตเมืองและชนบทเท่าๆ กัน ส่วนใหญ่เป็นผู้อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ร้อยละ 85 เป็นกลุ่มที่สมรสและมีบุตรแล้ว ร้อยละ 44.8 และโสด ร้อยละ 37.4 การประกอบอาชีพกระจายหลากหลายอาชีพ และมีฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวปานกลาง ร้อยละ 70.4 จากการประเมินตนเอง สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อพิจารณาจากประเด็นคำถามพบว่า 2.1 ความสำคัญของปัญหาค่าใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญของปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวใน 8 ประเด็น ได้แก่ การดูแลสุขภาพ/รักษาโรค การศึกษา ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า/สาธารณูปโภค การชำระหนี้สินที่กู้มาลงทุน/ใช้จ่าย การลงทุนทำกิจการ การซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน ค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้าน โดยคะแนนมีค่าตั้งแต่ 1 (สำคัญน้อยที่สุด) ถึงคะแนนเต็ม 10 (สำคัญมากที่สุด) พบว่าปัญหาค่าใช้จ่ายของการซื้อสินค้ามาเพื่อบริโภคประจำวันมีค่าเฉลี่ยความของคะแนนของสูงสุดคือเท่ากับ 7 เมื่อพิจารณาประเด็นปัญหาสำคัญพบว่า 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าปัญหาค่าใช้จ่ายในครอบครัวที่มีความสำคัญมากที่สุดคือการซื้อสินค้ามาบริโภคในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 30.8 2.2 พฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารที่ร้านอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 49.4 ดูหนัง/ร้องคาราโอเกะนอกบ้าน ร้อยละ 47.1 และท่องเที่ยวต่างจังหวัดน้อยลง ร้อยละ 54.3 พฤติกรรมใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ของกลุ่มตัวอย่างมากขึ้น ร้อยละ 39.2 ยิ่งกลุ่มตัวอย่างผู้ที่มีฐานะขัดสนและขัดสนมากทำงานมากขึ้นถึง 1 ใน 2 คน ส่วนพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงคือการซื้ออาหารสำเร็จรูปแทนการทำอาหารรับประทานเอง ร้อยละ 44.6 และการไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี ร้อยละ47.1 แต่หากมองจากกลุ่มตัวอย่างตามที่อยู่อาศัยกลับพบว่า ผู้อยู่ภาคเหนือไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีลดน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับการไปดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิตกลุ่มตัวอย่างไม่เคยทำ ร้อยละ 47.7 ซึ่งมากว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างเพศชาย และกลุ่มอายุระหว่าง 31-61 ปีขึ้นไปไม่เคยทำเช่นกัน ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างทำน้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ภาคเหนือไปดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิตลดลงถึง ร้อยละ51.2 2.3 พฤติกรรมการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภค ในภาพรวมวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคกลุ่มตัวอย่างเลือกวิธีการลดการทานอาหารนอกบ้าน ร้อยละ 49.4 ซึ่งการประหยัดวิธีนี้พบในกลุ่มตัวอย่างผู้ที่อยู่ในเขตภาคเหนือร้อยละ 43.5 และผู้ว่างงานมากกว่าครึ่ง นอกจากนี้กลุ่มผู้ว่างงานใช้วิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายโดยซื้อวัตถุดิบมาปรุงรับประทานเองที่บ้านถึงร้อยละ 45.5 สำหรับวิธีการบริโภคเนื้อสัตว์ เมื่อเนื้อหมูมีราคาแพงขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มตัวอย่างยังคงบริโภคเนื้อหมูเหมือนเดิมร้อยละ 45.4 โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างสภานภาพสมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตร ร้อยละ 51.4 กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 59.5 และกลุ่มคนที่มีฐานะทางครอบครัวขัดสนมาก ร้อยละ 69.0 ส่วนกลุ่มคนที่กำลังหางาน / ว่างงานเลือกใช้วิธีนี้มากถึงร้อยละ 83.3 อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างที่เลือกบริโภคเนื้อสัตว์หรือผักอย่างอื่นแทนมากถึงร้อยละ 47.8โดยส่วนใหญ่เลือกบริโภคเนื้อปลาแทนเนื้อหมูมากถึงร้อยละ 74 ส่วนกลุ่มคนที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลือกรับประทานปลามากที่สุด ร้อยละ 86.0 และกลุ่มคนว่างงานเลือกทานผักมากถึง ร้อยละ 80 2.4 สภาพทางการเงินโดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สภาพทางการเงินในปีนี้เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาโดยภาพรวมแล้วไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 59.0 อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีสภาพทางการเงินดีกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 22.3 ในขณะที่กลุ่มคนที่กำลังหางาน / ว่างงานมีสภาพแย่กว่าปีที่ผ่านมามากถึงร้อยละ 83.3 2.5 ความคาดหวังต่อสภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า กลุ่มตัวอย่างมากว่าครึ่งเห็นว่า สภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 54.2 โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 65.3 และกลุ่มคนที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 75.5 ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่ม ตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีความคิดเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 36.0 2.6 กิจกรรมในการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในช่วงวันหยุดส่งกรานต์ในปีที่แล้ว กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งเลือกที่จะทำบุญ โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 79.5 กลุ่มคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 70.0 และภาคกลาง ร้อยละ 72.5 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างแทบจะไม่ท่องเที่ยวต่างประเทศเลย สำหรับกิจกรรมการเล่นสาดน้ำเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18-22 ปี ร้อยละ 67.3 กลุ่มนักเรียน ร้อยละ 66.4 และ กลุ่มคนที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 48.5 กลุ่มตัวอย่างทำกิจกรรมสรงน้ำพระส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 69.4 กลุ่มคนที่มีอาชีพแม่บ้าน / พ่อบ้าน ร้อยละ 62.8 นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณ 1 ใน 2 คนของกลุ่มคนที่กำลังว่างงานส่วนการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และท่องเที่ยวต่างจังหวัด 2.7 ระดับความสุขโดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งมีความสุขในปีที่แล้วกับปีนี้ความสุขพอๆ กัน ร้อยละ 53.6 โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 69.9 และกลุ่มคนที่อยู่ทางภาคใต้ ร้อยละ 60.7 ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือรู้สึกว่าปีที่แล้วมีความสุขมากกว่าปีนี้ ร้อยละ 31.6 ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึกว่ามีความทุกข์พอๆ กัน เป็นกลุ่มคนที่กำลังหางาน / ว่างงาน ร้อยละ 33.3 และกลุ่มคนที่มีฐานะในครอบครัวขัดสนมาก ร้อยละ 38.1 3. เปรียบเทียบภาพรวมผลการสำรวจระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค มีการดำเนินการสำรวจครั้งแรกในปี 2551 (ช่วงระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2551) และในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 (ช่วงระหว่างวันที่ 16-30 พฤษภาคม 2552) ซึ่งหากเปรียบเทียบภาพรวมผลการสำรวจในปี 2551 และปี 2552 พบว่า 3.1 ความคำสัญของปัญหาค่าใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญของปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวใน 8 ประเด็น ได้แก่ การดูแลสุขภาพ/รักษาโรค การศึกษา ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง/ไฟฟ้า/สาธารณูปโภค การชำระหนี้สินที่กู้มาลงทุน/ใช้จ่าย การลงทุนทำกิจการ การซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน ค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้าน ซึ่งคะแนนมีค่าตั้งแต่ 1 (สำคัญน้อยที่สุด) ถึงคะแนนเต็ม 10 (สำคัญมากที่สุด) โดยเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2551 และปี 2552 พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความคัญของปัญหาไม่แตกต่างกัน และในปีนี้ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวใน 8 ประเด็นลดลงจากปีที่ผ่านมา ความคำสัญของปัญหาค่าใช้จ่ายในครอบครัวในประเด็นเรื่องการซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน ค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้าน จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาต่ำกว่าประถมถึงมัธยมศึกษาและกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 18-20 ปี ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญปัญหาไม่แตกต่างกันระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 นอกจากนี้ยังพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญปัญหาเรื่อง การชำระหนี้สินที่กู้มาลงทุน/ใช้จ่าย การลงทุนทำกิจการไม่แตกต่างกันระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 ในกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 18-20 ปี อีกด้วย สำหรับประเด็นปัญหาค่าผ่อนซื้อที่อยู่อาศัย/ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าผ่อนยานพาหนะ/รถยนต์/ของใช้ภายในบ้านพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญปัญหาไม่แตกต่างกันระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 ในกลุ่มคนโสด ส่วนกลุ่มคนที่มีฐานะขัดสนมากพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความสำคัญปัญหาไม่แตกต่างกันระหว่างปี 2551 และ ปี 2552 ไม่แตกต่างกันในประเด็นปัญหาค่าใช้จ่ายเรื่อง การศึกษา การชำระหนี้สินที่กู้มาลงทุน/ใช้จ่าย การลงทุนทำกิจการ และ การซื้อสินค้ามาบริโภคประจำวัน 3.2 พฤติกรรมการดำเนินชีวิตในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยภาพรวมแล้วพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในปี 2551 และปี 2552 กลุ่มตัวอย่างโดยส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชิวิตไม่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ ดังนี้ - การรับประทานอาหารที่ร้านอาหารนอกบ้านทำน้อยลง (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 5.6 จากปี 2551) - การซื้ออาหารสำเร็จรูปแทนการทำอาหารรับประทานเองทำเท่าเดิม (ปี 2552 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.6 จากปี 2551) - การไปพักผ่อนด้วยการดูหนัง/ร้องคาราโอเกะนอกบ้านทำน้อยลง (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 4.9 จากปี 2551) - การไปท่องเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อการพักผ่อนทำน้อยลง (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 2.7 จากปี 2551) - การใช้เวลาในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ทำมากขึ้น (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 7.8 จากปี 2551) - การไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีทำมากขึ้น (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 6.9 จากปี 2551) - การไปดูดวง พยากรณ์ชะตาชีวิตไม่เคยทำ (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 4.3 จากปี 2551) 3.3 พฤติกรรมการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภค เมื่อพิจารณาวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารในปี 2551 และปี 2552 พบว่า สัดส่วนการเลือกวิธีการประหยัดของกลุ่มตัวอย่างไม่ต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 เลือกวิธีการลดการทานอาหารนอกบ้าน สำหรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทเนื้อหมู เมื่อราคาแพงขึ้น โดยเปรียบเทียบปี 2551 และปี 2552 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันจะเห็นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกบริโภคเนื้อสัตว์และผักอย่างอื่นแทนเนื้อหมู (ปี 2552 ลดลด ร้อยละ 6.7 จากปี 2551) โดยประมาณ 2 ใน 3 คนเลือกทานเนื้อปลา (ปี 2552 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.1 จากปี 2551) 3.4 สภาพทางการเงินโดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจสภาพการเงินของกลุ่มตัวอย่างในปี 2551 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.8 เห็นว่ามีสภาพไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา (ปี 2550) และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาใกล้เคียงกันผลการสำรวจสภาพการเงินของกลุ่มตัวอย่างในปี 2552 มากกว่าครึ่งมีสภาพไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา (ปี 2551) ร้อยละ59.0% เช่นกัน 3.5 ความคาดหวังต่อสภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลการสำรวจความคาดหวังต่อสภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าของกลุ่มตัวอย่างในปี 2551 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.7 เห็นว่ามีสภาพไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา (ปี 2550) และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาใกล้เคียงกันผลการสำรวจความคาดหวังต่อสภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าของกลุ่มตัวอย่างในปี 2552 มากกว่าครึ่งมีสภาพไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา (ปี 2551) ร้อยละ 54.2 เช่นกัน ภาคผนวก ที่มาและความสำคัญของปัญหาโครงการวิจัย ‘ความมั่นใจของคนไทยในช่วงวิกฤต’ 1. บทนำ ในขณะที่ความตึงเครียดและสภาวะทางตันทางการเมืองภายในของประเทศไทยที่มีมาเกือบ 4 ปี ตั้งแต่ต้นปี 2548 กับคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศถึง 4 คณะ ปัจจุบันดูเหมือนว่า ประเทศไทยกำลังเข้าอยู่ห้วงเวลาของการปรับตัวและสามารถคลี่คลายปมปัญหาต่างๆที่ทับถมลงได้บ้าง ถึงแม้ว่าประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลกับวิกฤต “Sub-prime และตามด้วย Hamburger Crisis” แต่ประเทศไทยซึ่งเคยได้รับผลกระทบอย่างหนักมาแล้ว จาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ก็สามารถประคองเศรษฐกิจของประเทศมาได้อย่างไม่เจ็บตัวมากนัก แต่แล้วเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายน 2552 ได้ส่งผลกระทบที่ไม่เป็นผลดีและยังซ้ำเติมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังจะฟื้นตัวให้เกิดการชะงักงัน ประกอบกับข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แพร่กระจายทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมนี้ ยิ่งทำให้โอกาสฟื้นคืนชีพจากโรคร้ายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศอื่นๆทั่วโลกต้องรอเวลาไปอีกระยะหนึ่ง ปัจจัยที่กล่าวนี้แล้วเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงในเรื่องของการสร้างรายได้ประจำ การออม และส่งผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อการบริโภคและการใช้จ่ายต่างๆของประชาชนในชาติ ในช่วงเวลานี้และชั่วระยะเวลาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เมื่อเมษายน 2551 คณะกรรมการของปัญญาสมาพันธ์ฯ ได้มอบหมายให้ รศ. ดร. กิตติ ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาศาสตร์ด้านจำลองและพยากรณ์เศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้ประเด็น : ความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค ในครั้งนั้นประเทศไทยก็เผชิญกับสภาวะวิกฤติทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ คณะรัฐบาลในขณะนั้นมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ได้ประมาณ 3 เดือน และในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ (พฤษภาคม 2552) กับวิกฤติเศรษฐกิจที่หนักหนาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก กับผู้นำประเทศไทยที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทยมาเป็นเวลา 5 เดือน คณะทำงานของปัญญาสมาพันธ์ฯ โดยการนำของรศ. ดร. กิตติ ลิ่มสกุล เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นโอกาสอันสมควรยิ่งที่จะมี โครงการสำรวจความคิดเห็นที่เป็น “เสียงของประชาชน” ในประเด็นและข้อคำถามเดียวกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา คือประเด็นความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อการใช้จ่ายและการบริโภค เพื่อเป็นการสะท้อนความเชื่อมั่น ความคาดหวังของประชาชนต่อนโยบายของคณะรัฐบาลไทยต่อการบริโภคและดำรงชีวิตของประชาชน โดยใช้วิธีการทำวิจัยในเชิงปริมาณในลักษณะการทำสำรวจประชามติ ที่มุ่งเน้นการการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวนที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักสถิติ และที่สามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรเป้าหมายได้ โดยการสำรวจจะใช้เวลาที่น้อยที่สุด และให้ผลวิเคราะห์จากสำรวจออกมาเร็วที่สุด และผลการศึกษาในครั้งนี้จะได้นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลที่ได้รับจากการสำรวจในปีผ่านมา อันจะมีผลให้การศึกษาครั้งนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือ คณะรัฐบาล ที่จะได้นำไปพิจารณากำหนดแนวนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน และผู้ทีมีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ผู้บริหารในระบบราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และประชาชนไทย ที่จะได้นำผลการศึกษานี้ไปสร้างแนวรุก และแนวรับในการดำเนินงาน ดำเนินธุรกิจ และดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับสภาวะการณ์ภายหน้าต่อไป 2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย ในการสำรวจประชามติครั้งที่ 1/2552 นี้ มีวัตถุประสงค์หลัก สำคัญ 3 ประการ คือ 1. เพื่อศึกษาความคิดเห็นและการเลือกปฏิบัติของประชาชนไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของค่าใช้จ่าย และการบริโภคของตนเองและของครอบครัว ในสภาวะที่เสถียรภาพการเมืองของประเทศค่อนข้างต่ำ และสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง 2. เพื่อศึกษาความคาดหวังของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งของตนเอง และของประเทศในระยะเวลา 2-3 เดือนข้างหน้า 3. เพื่อเปรียบเทียบผลการศึกษา ที่ได้ดำเนินมาในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างปี 2551 และ 2552 3. ขอบเขตการวิจัย เป็นการสำรวจประชามติทั่วประเทศของประชาชนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่เนื่องจากประเด็นที่ต้องการศึกษาในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัว ดังนั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 4. วิธีดำเนินการวิจัย การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ จะดำเนินการสัมภาษณ์ประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วราชอาณาจักรไทยด้วยข้อคำถามปลายปิดความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 จำนวน 8,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม — 30 มิถุนายน 2552 โดยการดำเนินครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันของอาจารย์ และนักวิจัยจาก 5 สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ 5. สถานที่ทำการวิจัย และขนาดตัวอย่าง ใช้วิธีการกำหนดพื้นที่และกลุ่มตัวอย่างแบบ Multi-Stage random sampling ดังนี้ ขั้นที่ 1 แบ่งพื้นที่ประเทศไทยเป็น 5 เขตโดยยึดหลักภูมิศาสตร์ คือ เขต 1. กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอันประกอบด้วยจังหวัด สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี มีประชากรประมาณ 9.5 ล้านคน (15.3%) เขต 2. ภาคกลางอันประกอบด้วย 21 จังหวัด คือ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ลพบุรี ราชบุรี ระยอง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง มีประชากร ประมาณ 11.5 ล้านคน (18.5%) เขต 3. ภาคเหนืออันประกอบด้วย 17 จังหวัด กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พิจิตร พิษณุโลก พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี มีประชากรประมาณ 12.1 ล้านคน (19.5%) เขต 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันประกอบด้วย 19 จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มุกดาหาร สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มีประชากรประมาณ 21.5 ล้านคน (34.5%) เขต 5. ภาคใต้อันประกอบด้วย 14 จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง ยะลา สงขลา สตูล สุราษฏร์ธานี มีประชากรประมาณ 7.6 ล้านคน (12.2%) ขั้นที่ 2 แต่ละเขตพื้นที่ สุ่มตัวอย่าง 2 จังหวัด ยกเว้น เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุ่มตัวอย่าง 3 จังหวัด ขั้นที่ 3 แต่ละเขตจังหวัด จะสุ่มตัวอย่างเพื่อสัมภาษณ์ แบบ Random ในจังหวัด ที่ได้สุ่มตัวอย่าง โดยขนาดตัวอย่างทั้งสิ้นของแต่ละเขตพื้นที่จะสอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรที่มีอยู่ในเขตพื้นที่นั้นๆ ขนาดตัวอย่าง ทั้งสิ้น 8,000 ราย (คำนวณโดยสูตรของ Taro Yamane ที่ยอมให้เกิดการคาดเคลื่อน (ค่า e) = 1.112%) จำแนกตามเขตพื้นที่ได้ดังนี้ ขนาดตัวอย่างจำแนกตามเขตพื้นที่ เขต 1. และปริมณฑล 1,200 ราย (15.00%) เขต 2. ภาคกลาง 1,500 ราย (18.75%) เขต 3. ภาคเหนือ 1,600 ราย (20.00%) เขต 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,700 ราย (33.75%) เขต 5. ภาคใต้ 1,000 ราย (12.50%) การสัมภาษณ์ พนักงานสัมภาษณ์จะทำการสุ่มตัวอย่างและสัมภาษณ์ ตามแหล่งชุมชนทั้งในเขตเมือง เช่นบริเวณสถานที่ราชการ ย่านธุรกิจการค้า หน้าร้านสะดวกซื้อและในเขตชนบท ทั้งระดับตำบลและหมู่บ้าน 6. คณะผู้วิจัย หัวหน้าโครงการ รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาศาสตร์ด้านแบบจำลองและพยากรณ์เศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัย 1. อาจารย์ ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบการเขียนโครงการ การเก็บและบันทึกข้อมูล และเขียนวิเคราะห์บางส่วน 2. ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทวิเคราะห์ และรายงานผล 3. ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร ผู้ช่วยรองอธิการบดี และผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รับผิดชอบการวิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทวิเคราะห์ และรายงานผล 4. ดร. โรจนศักดิ์ โฉมวิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี สาขาการตลาด (ภาคภาษาอังกฤษ) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 5. คุณชลาธาร แกละมงคล นักวิจัยศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รับผิดชอบการประมวลผล จัดทำตารางวิเคราะห์ผล วิเคราะห์ข้อมูล เขียนบทวิเคราะห์ จัดทำ Power Point รายงานผล จัดทำเล่มรายงาน และรายงานผล

แท็ก thailand  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ