รับเงินสงเคราะห์บุตร : งดยื่นหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตร

ข่าวทั่วไป Monday December 4, 2006 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สปส.
คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ที่ต้องการใช้สิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรที่ สปส.จ่ายให้เดือนละ 350 บาท/บุตร 1 คนนั้น ขั้นตอนขอรับสิทธิไม่ยุ่งยาก ขอเพียงเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมาย รวมทั้งไม่ต้องยื่นหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตรเช่นที่ผ่านมา
ผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร จะต้องจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ส่วนบุตรที่จะได้รับการสงเคราะห์นั้น ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ขอรับประโยชน์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน หากมีบุตรมากกว่า 2 คน ต้องให้บุตรคนแรกมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ก่อนจึงจะนำบุตรคนต่อไปมาใช้สิทธิได้
สำหรับผู้ประกันตนหญิง ใช้สิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ทันทีเพราะถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กรณี ผู้ประกันตนชาย จะใช้สิทธินั้นต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะผู้ประกันตนชายจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา หรือไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตรเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ได้ร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร จะไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเพราะเป็นบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย
หรือผู้ประกันตนชายที่มีภรรยาหลายคน ทั้งภรรยาที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียนสมรส หากมีการ จดทะเบียนรับรองบุตรสำหรับบุตรที่เกิดจากภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรได้เช่นกัน และหากเป็น ผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรเพียงฝ่ายเดียว เมื่อมีการจดทะเบียนหย่าหรือแยกกันอยู่ และบุตรอยู่ในความอุปการะของผู้ประกันตนฝ่ายใดให้ผู้ประกันตนฝ่ายนั้นเบิกเงินสงเคราะห์บุตร
เว้นแต่ ... ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายในขณะที่บุตรมีอายุไม่เกิน 6ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ มีข้อแม้ว่า หากบุตรของผู้ประกันตนเสียชีวิตไปก่อนสิทธิที่ได้รับสิ้นสุดลงทันที ที่ผ่านมา ผู้ประกันตน/ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตร จะต้องยื่นหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตรปีละ 1 ครั้งระหว่างวันที่ 1-31 ต.ค.ของทุกปี เป็นภาระที่ยุ่งยากในการเตรียมเอกสารของผู้ประกันตน เพื่อช่วยลดภาระ สปส.ร่วมกับกรมการปกครอง นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบการมีชีวิตอยู่ของบุตรผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนไม่ต้องแสดงหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตร
ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบ หรือมีข้อสงสัยการมีชีวิตอยู่ของบุตร ทางสปส. จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีสิทธิให้นำหลักฐาน เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ หรือหนังสือรับรองของ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไปมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของ สปส. เขตพื้นที่/จังหวัด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ส่วนบุตรที่มีสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ให้แสดงหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตรเช่นเดิม
ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนสิทธิขอรับประโยชน์มาเป็นคนใหม่สำหรับบุตรคนเดิม สามารถทำได้ เช่น เดิมใช้สิทธิสามีในการเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ต่อมาสามีลาออกจากงานและต้องการใช้สิทธิภรรยาต่อ ต้องแนบหลักฐานการขอรับสิทธิและเขียนใบคำขอรับประโยชน์ทดแทนว่า ขอใช้สิทธิต่อจากสามีหรือภรรยา
หรือผู้ประกันตนบางรายที่เคยยื่นเรื่องเบิกเงินสงเคราะห์บุตรแล้ว ต่อมาลาออกจากงาน สปส.หยุดจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร เมื่อผู้ประกันตนกลับเข้ามาทำงานอีกครั้งและบุตรมีอายุยังไม่ครบ 6 ปี ใช้สิทธิต่อได้โดยต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม ขอเอกสารดังกล่าวได้ที่ สปส.เขตพื้นที่/จังหวัดทุกแห่ง
จำนวนผู้ประกันตนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นการรักษาสิทธิของผู้ประกันตนเอง ผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรเฉพาะเดือนตุลาคม ’49 สปส.จ่ายเงินสงเคราะห์บุตร เป็นเงิน 394,104,950 บาท ผู้มีสิทธิ 920,207 ราย และในรอบ 10 เดือนของปี ‘49 คือตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. สปส.จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรไปแล้ว จำนวน 3619.83 ล้านบาท
บรรดาคุณพ่อ คุณแม่ที่จะยื่นเรื่องเรื่องขอเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ต้องเตรียมหลักฐานให้พร้อม ได้แก่ สำนาสูติบัตรของบุตร สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีผู้ประกันตน หากใช้สิทธิผู้ประกันตนชาย เพิ่มสำเนาทะเบียนสมรส หรือหนังสือรับรองบุตร โดยสปส.จะโอนเงินเข้าบัญชีผู้ประกันตนผ่าน 7 ธนาคาร ได้แก่ บมจ.กสิกรไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ทหารไทย และนครหลวงไทย
ประกันสังคมมุ่งอำนวยความสะดวก และลดภาระให้กับผู้ประกันตน เพื่อให้มวลสมาชิกมีคุณภาพชีวิตและได้รับบริการที่ดี
ศูนย์สารนิเทศ สนง.ประกันสังคม สายด่วน 1506 /www.sso.go.th

แท็ก ประกัน   สปส.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ