โรงพยาบาลตำรวจนำเสนอเทคนิคใหม่ ทันสมัย

ข่าวทั่วไป Friday August 18, 2006 08:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ทีคิวพีอาร์
"การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย โดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก" แผลเล็ก ไม่ตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก หายไว ประหยัด ไม่ต้องตัดไหมไม่ต้องรอนานที่ รพ.ตำรวจ
พันตำรวจเอก นายแพทย์ ธนา ธุระเจน นายแพทย์พิเศษ โรงพยาบาลตำรวจ จัดสัมภาษณ์พิเศษต่อสื่อมวลชนในหัวข้อเรื่อง “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย หรือ Minimally Invasive Anterolateral Total Hip Arthroplasty (MIS AL THA)” โดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก (Cementless Total Hip Arthoplasty - Cementless THA) ณ ห้องตรวจกระดูก ตึกอำนวยการชั้น 1 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม
ผู้ป่วยที่มีข้อสะโพกเสื่อมในระยะท้ายๆ จะมีอาการเจ็บปวด และบวมที่ข้อ มีอาการขัดของข้อขณะเคลื่อนไหว อาการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย แพทย์จะวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยจากการตรวจร่างกายและภาพถ่ายเอ็กซเรย์ข้อสะโพก ที่จะบ่งบอกถึงความเสื่อม หรือสึกหรอของกระดูกบริเวณข้อสะโพกอย่างชัดเจน ซึ่งหากผู้ป่วยรับการรักษาด้วยวิธีทานยา หรือทำกายภาพบำบัดแล้วไม่ได้ผล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อจะให้คำแนะนำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งในอดีต วิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบมาตรฐาน แผลผ่าตัดบริเวณสะโพกจะมีขนาดใหญ่และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร อีกทั้งต้องตัดกล้ามเนื้อหลายส่วน เมื่อผ่าเสร็จแล้วผู้ป่วยต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลร่วม 2 สัปดาห์
ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้รับการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุด ศัลยแพทย์กระดูกและข้อจากโรงพยาบาลตำรวจ ได้เผยแพร่เทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ เรียกว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS AL THA) โดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก (Cementless THA)” ด้วยการใช้เทคนิคการผ่าตัดดังกล่าว แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลง หลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก ช่วยลดความบอบช้ำจากการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว อยู่โรงพยาบาลน้อยวัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบมาตรฐาน อีกทั้งเทคนิคการใส่ข้อเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูกทำได้ง่ายในแผลผ่าตัดขนาดเล็ก
ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบมาตรฐานนั้นแพทย์จะเปิดแผลกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร และสามารถเลือกใช้ข้อสะโพกเทียมได้ทั้งสองแบบคือข้อสะโพกเทียมที่ใช้สารยึดกระดูก และข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก อย่างไรก็ตามทางเลือกหนึ่งของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใน
ปัจจุบันคือแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย Minimally Invasive Anterolateral Total Hip Arthroplasty (MIS AL THA) เริ่มมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยเฉลี่ยนั้นแพทย์จะลดขนาดแผลผ่าตัดสั้นลง
50% และหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อรอบๆ สะโพก ซึ่งเมื่อแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง การใช้ข้อสะโพกแบบไม่ใช้สารยึดกระดูกจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้สารยึดกระดูกจำพวกซีเมนต์ แต่รอให้กลไกธรรมชาติสร้างกระดูกขึ้นมาทดแทนและเกาะยึดข้อสะโพกเทียม ซึ่งการไม่ใช้สารยึดกระดูกยังช่วยย่นระยะเวลาในการผ่าตัดให้สั้นลง ซึ่งจะช่วยลดภาวะการเสียเลือด และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยที่ใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก สภาพของกระดูกที่เหลืออยู่หลังผ่าตัดจะมีความสมบูรณ์ใกล้เคียงสภาพก่อนผ่าตัด ซึ่งคุณภาพและปริมาณของกระดูกที่เหลืออยู่จะทำให้ข้อสะโพกมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมในผู้ป่วยอายุน้อย ทั้งนี้ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยควรมีสภาพกระดูกที่ไม่บางจนเกินไป
ด้วยข้อดีหลายประการของการผ่าตัดแบบแผลเล็กโดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูกดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาลไม่ถึงสัปดาห์ ก็สามารถกลับบ้านได้ ค่ารักษาพยาบาลโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาท ซึ่งลดลงกว่าการผ่าตัดแบบมาตรฐานประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากระยะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สั้นลง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของห้องพัก ค่ายา ค่าแพทย์และบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วย
“ตั้งแต่ผมใช้เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย MIS AL THA โดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก ผมพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปทำงานและปฏิบัติภารกิจต่างๆในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ผมคิดว่านี้คืออีกก้าวสำคัญของการผ่าตัดรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย ดังนั้น ผมจึงอยากเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพนี้ให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมให้ได้รู้จัก เนื่องจากเทคนิคดังกล่าวได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยคำนึงถึงประโยชน์ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงสุด” พันตำรวจเอก นายแพทย์ ธนา ธุระเจน นายแพทย์พิเศษ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าว
ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูก ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ 1. ก้านสะโพก (Femoral Stem) ที่ทำมาจากโลหะผสมจำพวกไททาเนียม 2. หัวสวมก้านสะโพก (Femoral Head) ทำจากโลหะผสมจำพวกไททาเนียม 3.เบ้าสะโพก (Acetabular Cup) ทำจากโลหะผสมจำพวกไททาเนียม 4. วัสดุรองเบ้า (Acetabular Cup Liner) ซึ่งทำจากวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งวัสดุดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย น้ำหนักเบา และมีความทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งเป็นที่รู้จักของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วโลก และมีผู้ป่วยใช้ข้อสะโพกชนิดนี้มาแล้วมากกว่า 400,000 คน (ตั้งแต่ปี 2526-2548) และพบว่าผู้ป่วย 98.6 เปอร์เซ็นต์
สามารถใช้ข้อสะโพกเทียมชนิดนี้ได้ยาวนานกว่า 10 ปี โดยมีการยืนยันจากการศึกษาของแพทย์ต่างๆทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น
1. Journal: AAOS-Eighteen years follow-up of the CLS uncemted stem ปี 2004
โดย Grappiolo/Spotorna จากคนไข้ 300 ราย พบว่า 98% สามารถใช้ข้อสะโพกได้ยาวนาน16 ปี
2. Journal: Swedish National Hip Arthroplasty Register ปี 2002
โดย Malchau et al. จากคนไข้ 314 คน พบว่า 100% สามารถใช้ข้อสะโพกเทียมได้ยาวนานถึง 11 ปี
3. Journal: Arch. Orthop. Trauma. Surg. Vol 121: 321-324 ปี 2001
โดย Schreiner et al. จากคนไข้ 335 คน พบว่า 98.2% สามารถใช้ข้สะโพกเทียมได้ยาวนาน 9 ปี
4. Journal: Arch. Orthop. Trauma. Surg. Vol 120:407-412 ปี 2000
โดย Schramm จากคนไข้ 94 ราย พบว่า 100% สามารถใช้ข้อสะโพกเทียมได้ยาวนาน 10 ปี
นอกจากนี้ ยังมีการตีพิมพ์ผลใช้ก้านสะโพกรุ่นนี้ มากกว่า 100 ฉบับ จากการศึกษาของสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำทั่วโลก
คุณปุณฑริก อุณหกะ อายุ 35 ปี ผู้ป่วยซึ่งเคยผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย โดยใช้ข้อสะโพกเทียมแบบไม่ใช้สารยึดกระดูกให้สัมภาษณ์เบื้องต้น ว่า “ดิฉันเป็นโรค SLE ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ต่อมาก็พบว่าเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม จากฟิล์มเอกซเรย์ คุณหมอชี้ให้ดูว่าข้อสะโพกยุบตัว ทำให้ขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด สองวันหลังผ่าตัดคุณหมอก็ให้ฝึกเดินโดยใช้เครื่องช่วยพยุง หลังจากนั้นอาการปวดแผลผ่าตัดก็เริ่มดีขึ้น การเดินก็ดีขึ้น ไม่ถึงสัปดาห์คุณหมอก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ ส่วนแผลผ่าตัดก็สั้นประมาณ 10-12 เซนติเมตร และปัจจุบันดิฉันก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถขับรถไปไหนมาไหนได้อย่างสบาย”
ปัจจุบัน โรงพยาบาลตำรวจ ได้ใช้เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย โดยใช้ข้อสะโพกเทียมที่ไม่ใช้สารยึดกระดูก พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถเดินได้ในวันที่1 หรือ 2 หลังผ่าตัด และดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ภายใน 3 สัปดาห์ เทคนิคดังกล่าวจะทำให้บาดแผลเล็กลงแต่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก ทำให้กล้ามเนื้อไม่สูญเสียกำลัง ลดความชอกช้ำจากการผ่าตัด ผู้ป่วยหายไว อีกทั้งแผลเป็นมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก เทคโนโลยีใหม่นี้จะเอื้อประโยชน์และเพิ่มคุณภาพชีวิตอย่างสูงสุดแก่ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม
สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:
คุณฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน
บริษัท ทีคิวพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2260-5820 ต่อ 114
โทรสาร. 0-2260-5847-8
อีเมล์ tqprthai@tqpr.com
หรือ คุณสิริรัตน์ จันทวงษ์วาณิชย์
บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
โทร. 0-2220-9000 ต่อ 1286
อีเมล์ sirirat.jantavongvanich@zimmer.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก ผ่าตัด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ