กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--คต.
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เดินสายชี้แจงและจัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดมาตรการรองรับการเปิดตลาดข้าวตามความผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA วันที่ 25 มิถุนายน 2552 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ โดยมีเกษตรกร ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมจำนวนมาก
นางดวงพร รอดพยาธิ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) ประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิก AFTA มีพันธกรณีจะต้องลดภาษี และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี สินค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ซึ่งได้ดำเนินการลดภาษีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และมีกำหนดจะต้องยกเลิกโควตานำเข้าและลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ผูกพันไว้ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับ คู่เจรจาของไทยรวมถึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของไทยในภูมิภาคอาเซียน
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศ ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดข้าวตามพันธกรณีและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด กรมการค้าต่างประเทศได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการพิจารณามาตรการรองรับเพื่อการบริหารจัดการข้าวนำเข้าและแนวทางการปฏิบัติโดยมีเป้าหมายในการรักษาคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย คุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคข้าวไทย ป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูข้าว รวมทั้งป้องกันการนำเข้าข้าวมาสวมสิทธิ์ในโครงการแทรกแซงของรัฐบาลและป้องกันการนำเข้าข้าวที่มีการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) และเพื่อให้การบริหารจัดการข้าวนำเข้ามีความสมบูรณ์ โปร่งใส และสนองความต้องการของภาคประชาสังคม จึงได้จัดเวทีสาธารณะให้ทุกภาคส่วนของประเทศได้มีโอกาสร่วมแสดงความเห็นและเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการเปิดตลาดข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) โดยจะจัดรวม 6 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างเดือน มิ.ย. — ก.ค. เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่สองที่จังหวัดชัยนาท ผู้เข้าร่วมจากพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ครั้งที่สามที่จังหวัดสงขลา ผู้เข้าร่วมจาก 14 จังหวัดภาคใต้ สำหรับครั้งนี้จัดที่จังหวัดสุรินทร์ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วยจังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, อุบลราชธานี, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ส่วนอีก 2 ครั้ง มีกำหนดจัดที่จังหวัดอุดรธานี และกรุงเทพฯ
นางดวงพรฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการเปิดเวทีสาธารณะกรมการค้าต่างประเทศจะประมวลนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการเปิดตลาดข้าวตามพันธกรณีAFTAเพื่อออกกฎ ระเบียบ ให้มีผลใช้บังคับได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2553 ทั้งนี้ ผู้ที่มิได้เข้าร่วมการรับฟังความเห็น และผู้สนใจทั่วไปสามารถเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่ website กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือสายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ