รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวทั่วไป Thursday June 25, 2009 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาคในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการหดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณของการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนจากอุปสงค์ภายในประเทศด้านการบริโภคภาคเอกชนเริ่มหดตัวชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศจากภาคการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกทำให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลมาก ทั้งนี้ การเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัว สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอก สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง ในขณะที่เสถียรภาพภายในประเทศยังมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2552 เริ่มมีสัญญาณการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อย สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -17.0 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -14.3 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.9 ต่อปี ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -9.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.7 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ที่ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความไม่แน่นอน สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -18.3 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 64.3 ลงจากระดับ 65.1 ในเดือนก่อนหน้า และปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 90 เดือน 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2552 ยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -25.5 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -31.1 ต่อปี ในขณะที่เครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี สอดคล้องกับยอดขายปูนซีเมนต์ในเดือนเมษายน 2552 ที่หดตัวร้อยละ -11.0 ต่อปี บ่งชี้ถึง การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤษภาคม 2552 พบว่า รายจ่ายรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2552 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 161.0 พันล้านบาท ขยายตัวจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อนในระดับสูงที่ร้อยละ 27.0 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ จำนวน 40.0 พันล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 244.4 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดสรรงบลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และงบลงทุนในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 114.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ในขณะที่รายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2552 เท่ากับ 217.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -21.6 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนหนึ่งเลื่อนไปอยู่ในเดือนมิถุนายน 2552 ตามการปรับระยะเวลาการยื่นชำระภาษี และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลงอันเป็นผลมาจากการนำเข้าและ การบริโภคภายในประเทศที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา 4. เครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุปสงค์ต่างประเทศพบว่า มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่การที่มูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลมากในเดือนพฤษภาคม 2552 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -26.6 ต่อปี มาจากปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -24.2 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่า การส่งออกในรายหมวดสินค้าพบว่าเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าการส่งออกในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าหมวดอุตสาหกรรม หมวดยานพาหนะและหมวดสินค้าเกษตร เป็นต้น และเป็นการขยายการส่งออกที่ดีขึ้นไปยังตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ อันได้แก่ จีน ตะวันออกกลาง เวียดนาม และทวีปแอฟริกา เป็นหลัก สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -34.7 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยเป็นการหดตัวของปริมาณสินค้านำเข้าที่ร้อยละ -29.9 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าที่หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า อันได้แก่ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และวัตถุดิบ ทั้งนี้ การหดตัวในระดับสูงของมูลค่าการนำเข้า ทำให้มูลค่าการนำเข้าต่ำกว่ามูลค่าส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2552 เกินดุลต่อเนื่องที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานประจำเดือนพฤษภาคม 2552 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมี การหดตัวที่ชะลอลง ขณะที่ภาคเกษตรและภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ข้อมูลเบื้องต้น) ในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวลงร้อยละ -12.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -13.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายสินค้าแล้ว พบว่า ดัชนีผลผลิตรายสินค้าอุตสาหกรรมมีการปรับตัวดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยางและเม็ดพลาสติก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคโดยเฉพาะจีนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การผลิตในภาคบริการจาก การท่องเที่ยวยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 0.9 ล้านคน หดตัวร้อยละ -19.7 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และความกังวลของนักท่องเที่ยวจากปัจจัยไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นหลัก ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -8.7 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี ตามผลผลิตสำคัญที่ลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และอ้อย เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีก่อนหน้าที่ราคาข้าวและอ้อยอยู่ในระดับสูง ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกสูงมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ในระดับสูงที่ 121.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5.0 เท่า ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้าที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าและบริการหมวดพาหนะการขนส่งที่ปรับตัวลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นสำคัญ สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 43.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 42.0 จากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2552 แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทาง การคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ