กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กทม.
คกก.จราจรฯ สภากทม. ติดตามประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวกทม. พร้อมตั้งข้อสังเกต เสนอแนวทางการแก้ไข ทั้งระยะสั้น และระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
นายสุธา นิติภานนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตภาษีเจริญ ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจร ขนส่งและการระบายน้ำ สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คณะกรรมการได้ติดตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและปัญหาต่างๆ ของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องในหลายโครงการ
เสนอแนวทางแก้ไข ลดแนวกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน
สำหรับการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน คณะกรรมการฯ ได้ประชุมร่วมกับสำนักผังเมืองซึ่งทำการศึกษาแนวป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนซึ่งเกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดิน การกัดเซาะโดยคลื่น และจากการเคลื่อนตัวพัดพาตะกอนตามชายฝั่ง โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ม.เกษตรศาสตร์มีโครงการปลูกป่าชายเลนบริเวณชายทะเลอยู่แล้ว กทม. ควรให้การสนับสนุนโดยช่วยในการบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังควรชี้แจงประชาชนให้เข้าใจประโยชน์ของการใช้ไม้ไผ่สดสร้างเป็นแนวกันการกัดเซาะ เนื่องจากใช้งบประมาณต่ำ แต่มีความแข็งแรงมากกว่า รวมทั้งควรสร้างคันเขื่อนกับถนนพร้อมกันเพื่อพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย
แก้ปัญหาประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากการประเมินราคา
คณะกรรมการฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้าง ถ.พรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในราคาประเมิน โดยได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักการโยธา พบว่า สำนักการโยธาได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อกำหนดราคาค่าทดแทน โดยยึดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ของกระทรงมหาดไทย ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้นำปัจจัยความลึกของที่ดินมาใช้ในการกำหนดราคาด้วย กล่าวคือหากที่ดินมีความลึก 40 เมตร จากถนนสายหลักจะมีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาที่ดิน ส่วนที่ดินที่มีความลึกเกิน 40 เมตร ขึ้นไปจะมีมูลค่าลดหย่อนลงไป โดยหมายถึงยิ่งที่ดินอยู่ลึกมากเข้าไปเท่าไหร่ราคายิ่งลดลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯได้ตั้งข้อสังเกตว่าในการพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินเบื้องต้นแล้วไม่ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษาอีก ควรให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจและประเมินราคาเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และสำนักการโยธาควรประสานสำนักผังเมืองเพื่อขอใช้ฐานข้อมูลเรื่องที่ดิน เพื่อนำมาใช้ในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและการจัดทำข้อมูลเรื่องที่ดินในอนาคต นอกจากนี้ในท้ายบันทึกแจ้งผู้ได้รับค่าทดแทนให้แจ้งชื่อเจ้าหน้าที่บริษัท พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ของ สำนักการโยธาไว้ด้วย รวมทั้งต้องจ่ายเงินค่าทดแทนภายใน 30 หรือ 45 วัน เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องนายหน้าเรียกเก็บเงิน
หาที่อยู่รองรับ ส่งเสริมสร้างอาชีพ ป้องกันปัญหารุกล้ำคู คลอง
นายสุธา ยังได้กล่าวถึง การตรวจสอบและติดตามปัญหาการบุกรุกล้ำคู คลองทั้ง 50 เขตของกทม. ด้วยว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการติดตามการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอต่อประธานสภากรุงเทพมหานคร ดังนี้ แผนการแก้ปัญหาการบุกรุกอย่างยั่งยืนนั้น กรุงเทพมหานครจะต้องหาที่อยู่ใหม่รองรับผู้บุกรุกด้วยไม่เช่นนั้นก็จะไปบุกรุกคูคลองอื่นอีก หรือเจราจาร่วมกับเอกชนหรือการรถไฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินว่างเปล่าเพื่อให้ประชาชนเช่าได้ในราคาพิเศษ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนได้มีอาชีพ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องควรเร่งลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและดูแลกวดขันไม่ให้มีการรุกล้ำพื้นที่อีก
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้สรุปการดำเนินการทั้งหมดนำเสนอต่อประธานสภากรุงเทพมหานคร และนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครแล้ว และจะได้ดำเนินการติดตามโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการการจราจร ขนส่งและการระบายน้ำ ของกทม. เพื่อร่วมหาแนวทาง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป