กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ก.ไอซีที
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมวาระแห่งชาติ เรื่อง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการวางรากฐานระบบไอซีทีของประเทศ ว่า กระทรวงฯ จะเป็นเจ้าภาพผลักดันให้รัฐบาลบรรจุอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ไว้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพิ่มอัตราการจ้างงาน และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
“กระทรวงฯ เชื่อมั่นว่า หลังจากการบรรจุโครงการนี้ไว้ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแห่งชาติแล้ว การลงทุนด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ในประเทศไทย จะสามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดให้โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสำเร็จตามไปด้วย อาทิ การเพิ่มจำนวนผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในทุกภาคส่วน และประชาชนจะยังได้รับประโยชน์จากการบริการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ด้าน e-Government, e-Education, e-Commerce, e-Health, Internet Protocol TV (IPTV), Teleworking เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อตอบรับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศมีความก้าวหน้าและเติบโตอย่างมีศักยภาพ ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยนำพาประเทศไทยให้กลับคืนสู่สภาวการณ์ปกติได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจขาลง อีกทั้งยังเป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศด้วย
ในส่วนของกระทรวงไอซีทีได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีการพัฒนาและใช้ไอซีทีอย่างชาญฉลาด ให้ประชาชนทุกระดับมีความฉลาดและรอบรู้ด้านสารสนเทศ สามารถเข้าถึงและนำไอซีทีมาใช้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ตลอดจนมีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มี ธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างสังคมความรู้ รวมถึงนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและมั่นคง หรือที่เรียกว่า “Smart Thailand” ซึ่งการที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวกระทรวงฯ มีพันธกิจที่จะต้องพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เช่น โครงข่ายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง
“กระทรวงฯ ได้มีการวางเป้าหมายสำหรับแผนแม่บทไอซีที ฉบับที่ 2 เพื่อช่วยให้บรรลุพันธกิจและวิสัยทัศน์ดังกล่าวในระดับประเทศ โดยภายในปี 2553 จะต้องมีประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยบริการบรอดแบนด์ หรือคิดเป็นผู้จดทะเบียนการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 8 ล้านพอร์ต ขณะเดียวกันก็จะทำให้เป้าหมายของการเข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านเครื่องภายในปี 2553 ด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศขึ้นอย่างน้อย 15 อันดับ ภายในปี 2556 จากการจัดอันดับของ Networked Readiness Rankings พร้อมกันนี้ยังเป็นการเพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะทำให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมไอซีทีต่อ GDP มีไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 ภายในปี 2556“ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
ด้าน นายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้น เพื่อทำหน้าที่หารือกับบริษัทโทรคมนาคมต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐในการจัดสรร ติดตั้ง และการเช่าใช้โครงข่ายบรอดแบนด์ ให้ครอบคลุมในเมืองใหญ่และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังจะมีการนำเสนอโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ไอซีทีมากยิ่งขึ้น อาทิ จัดทำโครงการบรอดแบนด์ราคาถูกควบคู่ไปกับโครงการเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูก โดยการนำมาตรการภาษีมาใช้ในการสนับสนุน หรือการให้ภาครัฐใช้งบประมาณเข้ามาช่วยสนับสนุน หรือโครงการอบรมบุคลากรและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ความสามารถด้านไอซีทีเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น พร้อมกันนี้กระทรวงฯ จะมีการจัดทำเรื่องเสนอของบประมาณจากรัฐบาล จำนวน 2,000 ล้านบาท ภายในปี 2553 มาใช้ในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึง บรอดแบนด์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้