แพทย์เตือนหนุ่ม-สาวทำงาน ร้อนนี้อย่าเครียด ระวังอาการไมเกรนกำเริบ

ข่าวทั่วไป Monday March 20, 2006 10:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
แพทย์เตือนหนุ่มสาววัยทำงาน ร้อนนี้อย่าเครียด เพราะอุณหภูมิความร้อนที่นับวันจะร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความเครียดของคนในสังคมเมือง ที่ผลโพลล์ล่าสุดออกมาชี้ว่าคนกรุงเครียดจัดจากสภาวะเศรษฐกิจและหนี้สิน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หนุ่มสาววัยทำงานเกิดอาการไมเกรนกำเริบถี่และรุนแรงมากขึ้น แนะให้เตรียมตัว เตรียมใจ และเสริมสุขภาพ เพื่อรับมือกับไมเกรน เพราะแม้ว่าไมเกรนจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถป้องกันและลดความถี่ของการปวดไมเกรนได้
รศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า โรคปวดศีรษะไมเกรน แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นอาการที่สร้างความรำคาญและทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากอาการปวดศีรษะ ไมเกรนจะมีอาการปวดรุนแรงกว่าอาการปวดศีรษะปกติทั่วไป ซึ่งลักษณะเด่นของโรคปวดศีรษะ ไมเกรนที่สังเกตได้คือ อาการปวดตุ๊บๆ บริเวณขมับ หรือปวดลึกๆ บริเวณเบ้าตา เหมือนจังหวะหัวใจเต้น ซึ่งจะปวดในระดับปานกลางถึงปวดมาก เป็นเวลาหลายชั่วโมง-วัน และในคนไข้บางรายอาจมีอาการนำ เช่น เห็นแสงแวบๆ เป็นสีเหลือง หรือเป็นเส้นหยัก หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองแล้วทําให้หลอดเลือดสมองมีการขยายตัวมากกว่าปกติ และยังมีความเกี่ยวพันกับอารมณ์ เช่น ความรู้สึกหดหู่ ผิดหวัง ความเครียด นอกจากนี้ ปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อนและแสงแดดจัด ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้อาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบ
“คนที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักจะมีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบ ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อคนที่เป็นไมเกรนประสบกับภาวะอากาศร้อนจัดและความเครียด ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของสารเคมีในสมองมากขึ้น ก็จะยิ่งกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบได้ง่ายขึ้น ฉะนั้นตัวผู้ป่วยเองควรสังเกตตัวเองว่าอะไรที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบ และพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมให้ห่างจากตัวกระตุ้นที่ก่อให้อาการไมเกรนกำเริบเสีย ก็จะช่วยลดความถี่ของไมเกรนได้” นพ.ก้องเกียรติ กล่าวและเสริมว่า
ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรนได้ง่าย ได้แก่ 1.) ความเหน็ดเหนื่อย ความผันผวนของภาวะทางอารมณ์ ความวิตกกังวล ความโกรธ ตื่นเต้นตกใจ ความเครียด ความตึงเครียดของความเนื้อ 2.) สภาวะแวดล้อม เช่น ภาวะอากาศที่ผันผวน เช่น อากาศร้อนจัด-เย็นจัด การตากแดด และแสงจ้าๆ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นหอมจัด เหม็นจัด กลิ่นเครื่องเทศ 3.) ภาวะโภชนาการ เช่น การมีน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะการอดอาหาร หรือ การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรส 4.) ภาวะฮอร์โมน เช่น ภาวะรอบเดือนในผู้หญิง การตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิด และ 5.) การพักผ่อน เช่น การนอนน้อยไป นอนมากไป นอนไม่เป็นเวลา หรือภาวการณ์ปรับเวลาอย่างกระทัน (อาการเจ็ตแลค)
นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า ไมเกรนเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่สามารถป้องกันและลดความถี่ของการปวดไมเกรนได้ โดยผู้ป่วยต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อสุขภาพแข็งแรง จิตใจแจ่มใส ไม่โกรธ ไม่เครียด หลีกเลี่ยงจากปัจจัยต่างๆที่เป็นตัวกระตุ้น และรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1. ยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน จะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ หรือรุนแรง และ 2. ยาแก้ปวดไมเกรน จะใช้เป็นครั้งคราว เมื่อมีอาการปวดเท่านั้น
“การใช้ยาเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดไมเกรนขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพราะยาทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ยาถูกต้องและเหมาะสมก็จะได้ผลดีในการรักษา หากใช้ผิดก็อาจนำอันตรายมาให้ได้ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยก่อนใช้ยาทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน” นพ.ก้องเกียรติ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาไมเกรน ติดต่อขอรับคู่มือ “รู้จักไมเกรน” ได้ฟรี โดยส่งจดหมายขอรับไปที่ โครงการความรู้เรื่องไมเกรน ตู้ปณ.41 ปณฝ.หัวหมาก บางกะปิ กทม.10243

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ