ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 29, 2009 08:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term Local Currency IDR) ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘B/C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารที่ ‘2’ นอกจากนี้ ฟิทช์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ SCBT ที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อับดับเครดิตของ SCBT สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร คือ Standard Chartered Bank (SC) ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘A+’ SCBT เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียของ SC โดย SC มีนโยบายที่จะถือหุ้นใน SCBT ในระยะยาว และได้มีการควบคุมการบริหารงานของ SCBT ผ่านทางคณะกรรมการและคณะผู้บริหารของ SCBT จากการที่ข้อจำกัดสำหรับผู้ถือหุ้นต่างชาติในการเพิ่มทุนในธนาคารจะมีผลหลังจากปี 2552 อาจทำให้ SCBT ต้องพึ่งพากำไรสะสม การจัดสรรสินทรัพย์ และเงินกองทุนขั้นที่ 2 เป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบจากการที่การถือหุ้นของ SC จะถูกลดสัดส่วนลง เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและฐานะทางการเงินของ SC ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลัก ในกรณีที่มีความจำเป็น SCBT รายงานผลกำไรสุทธิ (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) 2 พันล้านบาทในปี 2551 เพิ่มขึ้น 15.6% จากปี 2550 โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ในตลาดเงิน เช่น เงินตราต่างประเทศและสัญญาอนุพันธ์ และการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง อย่างไรก็ตามรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิของธนาคารลดลง 20.9% จากปี 2550 เป็น 7.2 พันล้านบาท ในปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากธนาคารได้ลดสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าลง ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCBT ที่ 2.4% ณ สิ้นปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดในกลุ่มธนาคารไทย ในขณะเดียวกันอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารที่ระดับ 137.2% ณ สิ้นปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ และธนาคารยังคงมีความเสี่ยงจากการที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันในสัดส่วนที่สูง (คิดเป็น 26% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551) จึงส่งผลให้ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองหนี้สูญที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ SCBT ลดลงเล็กน้อยเป็น 12.1% สำหรับเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 12.5% สำหรับอัตราเงินกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2551 โดยการลดลงเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์ของ Basel II การเพิ่มทุนของ SCBT จำนวน 7.2 พันล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2552 จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 16% ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของธนาคารในอนาคตและเพื่อลดความเป็นไปได้ในการที่ SC จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT ในระยะยาว สำหรับสภาพคล่องของธนาคารที่แข็งแกร่งเป็นผลมาจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้นของธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำที่ 49.5% อีกทั้งธนาคารยังมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อเงินกู้ยืม (wholesale funding) อยู่ในระดับที่สูงถึง 425.6% ณ สิ้นปี 2551 SCBT ถูกก่อตั้งในปี 2476 โดยตระกูลหวั่งหลี ผลจากวิกฤติการทางการเงินปี 2540 ทำให้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในธนาคาร แต่ต่อมา SC ได้เข้าซื้อกิจการของธนาคาร และปัจจุบันมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 99.97% SCBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารมีสัดส่วนการตลาดต่ำกว่า 2% หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ติดต่อ พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759 คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ