ไอบีเอ็มประกาศผลผู้ชนะจากโครงการแข่งขันทางด้านซอฟต์แวร์ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์”

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 29, 2009 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอบีเอ็ม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ซอฟต์แวร์พาร์ค (เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย) และ ชุมชนผู้ใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูนานาชาติ หรือ ไอดียูจี (International DB2 Users Group - IDUG) ประกาศผลผู้ชนะจากการแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และดำเนินการแข่งขันตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 จนถึงกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา โดยผู้ชนะจากประเทศไทยสามารถกวาดรางวัลในทุกประเภทการแข่งขัน รวมทั้งรางวัลในระดับประเทศและระดับภูมิภาคจากการแข่งขันครั้งนี้อีกด้วย การแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะของนักศึกษาและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทางด้านเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอล (eXtensible Markup Language - XML) รวมทั้งทักษะทางด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูล โดยที่ผู้เข้าแข่งขันไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วีดิโอที่น่าคลั่งไคล้ (Video Mania) คำถามสุดท้าทาย (Query Challenge) และการแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) และแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับประเทศและระดับภูมิภาค การแข่งขันครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 5,000 คนจากทั่วทั้งภูมิภาค รายละเอียดของผู้ชนะจากการแข่งขันในแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้ - วีดิโอที่น่าคลั่งไคล้ (Video Mania) หรือการแข่งขันสร้างสรรค์วีดิโอคลิปซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ดีบีทู (DB2) ของไอบีเอ็ม หรือการบริหารจัดการฐานข้อมูลโดยรวม การแข่งขันนี้มีเพียงระดับภูมิภาคเท่านั้น การตัดสินใช้วิธีโหวตจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดจากทุกประเทศในภูมิภาค ผู้ชนะจะได้รับรางวัลวีดิโอเกม นินเทนโด วี ผู้ชนะในระดับภูมิภาค ได้แก่ นาย พรชัย พันธุ์วิเศษ จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ - คำถามสุดท้าทาย (Query Challenge) หรือการแข่งขันหาคำตอบโดยให้ผู้เข้าแข่งขัน (จะเป็นนักศึกษาหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ได้) เรียนรู้และฝึกเขียนภาษาเคียวรี่ (Query language) และหาคำตอบจากโจทย์ที่กำหนดด้วยภาษาเอ็กซ์เอ็มแอล หรือ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลดีบีทู การแข่งขันนี้มีทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การตัดสินผู้ชนะทำโดยการรวมรวมคะแนนจากระบบโดยดูจากจำนวนคำตอบที่ถูกต้องของผู้เข้าแข่งขัน หลังจากนั้นคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจะให้คะแนนเพิ่มเติมโดยพิจารณาจากคุณภาพและประสิทธิภาพของการเขียนเคียวรี่ของผู้เข้าแข่งขัน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือผู้ชนะ ผู้ชนะในระดับประเทศจะได้รับรางวัลเครื่องเล่นไอพ๊อด นาโน ส่วนผู้ชนะในระดับภูมิภาคจะได้รับรางวัลวีดิโอเกม นินเทนโด วี ผู้ชนะในระดับประเทศ (ของประเทศไทย) ได้แก่ นายศรัณย์ วงศ์พัชรปกรณ์ และนายนิติภูมิ ศิลาวรรณา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือจากผู้ชนะทั้งสองคนจากประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้ชนะในระดับประเทศจากประเทศอื่นอีก คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม (รายชื่อสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน) ผู้ชนะในระดับภูมิภาค ได้แก่ นายนิติภูมิ ศิลาวรรณา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ชนะควบทั้งงรางวัลระดับประเทศและภูมิภาค) - การแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) บนเทคโนโลยีทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลและเครื่องมือจัดการฐานข้อมูลของซอฟต์แวร์ดีบีทูของไอบีเอ็ม การแข่งขันนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าแข่งขันเป็นทีม และให้มีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ปรึกษาได้ 1 ท่าน การแข่งขันนี้มีทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การตัดสินผู้ชนะทำโดยคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทั้งจากไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และบริษัทคู่ค้าของไอบีเอ็ม ในส่วนของของรางวัล ผู้ชนะในระดับประเทศจะได้รับรางวัลเครื่องเล่นไอพ๊อด นาโน ผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศในระดับภูมิภาค จะได้รับรางวัลตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และโอกาสในการเยี่ยมชมแล็บของไอบีเอ็มที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ชนะในระดับประเทศ (ของประเทศไทย) ได้แก่ นายวชิระ สว่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ นอกเหนือจากผู้ชนะจากประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้ชนะในระดับประเทศจากประเทศอื่นด้วย คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (รายชื่อสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน) ผู้ชนะเลิศในระดับภูมิภาค ได้แก่ นายวชิระ สว่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (ชนะควบทั้งงรางวัลระดับประเทศและภูมิภาค) ผู้ชนะเลิศ (รอง) ในระดับภูมิภาค ได้แก่ นักศึกษาจากมาเลเชีย (สามารถดูชื่อได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน) มูลค่าทั้งหมดของของรางวัลสำหรับผู้ชนะทุกคนทั่วทั้งภูมิภาค คือ 1,004,268 บาท ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หนึ่งในผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า “"ผมย้ำอยู่เสมอว่าคนไทยมีศัยภาพไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทย หรือคนไทยมีความสามารถทัดเทียมนานาชาติหรือสูงกว่า เพราะฉะนั้นเราในส่วนของภาครัฐ เราจะต้องส่งเสริมให้เด็กๆเหล่านี้ ได้แสดงออกซึ่งความสามารถ ผ่านเวทีการประกวดแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาทักษะ เพื่อรองรับในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซิป้าพร้อมให้การสนับสนุนโครงการดีๆ อย่างนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเยาวชนไทยด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ และดิจิตอลคอนเทนท์"” นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค (เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวว่า “ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านการเขียนและการใช้ซอฟต์แวร์ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคถือเป็นเวทีที่สร้างคนคุณภาพมาประดับวงการซอฟต์แวร์ของไทยอย่างไม่ขาดสาย และการที่เยาวชนของไทยสามารถกวาดรางวัลค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์ ในระดับภูมิภาคเช่นนี้ นอกจากจะทำให้วงการซอฟต์แวร์ของไทยตื่นตัวในภาษาเอ็กซ์เอ็มแอลมากขึ้น ยังเท่ากับเป็นการผลักดันมาตรฐานการเขียนโปรแกรมและการใช้งานของไทยเข้าสู่ระดับมืออาชีพขึ้นอีกด้วย ถือเป็นแนวทางการส่งเสริมของซอฟต์แวร์พาร์คตลอดช่วงที่ผ่านมา” นายวชิระ สว่างแก้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผู้พัฒนาโครงการเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยจากเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลและเครื่องมือของซอฟต์แวร์ดีบีทูจากไอบีเอ็ม จนได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคของประเภทการแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) จากการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลในครั้งนี้รวมทั้งภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและได้มีโอกาสชนะการแข่งขันครั้งนี้ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งขอขอบคุณไอบีเอ็มและองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ด้วย” นอกจากนั้นนายวชิระ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ในระหว่างการแข่งชัน ผมพบว่าเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลหรือการใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูในการจัดการข้อมูล ไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ รวมทั้งเชื่อมั่นว่าคนไทยเองก็มีศักยภาพในด้านนี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นผมจึงอยากรณรงค์ให้ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันสนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้แสดงศักยภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของบ้านเราให้ทัดเทียมหรือเอาชนะประเทศอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกันครับ” นายวชิระ กล่าวเสริม นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ทางไอบีเอ็มในฐานะส่วนหนึ่งของผู้จัดการแข่งขันครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การแข่งขันครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และมีส่วนในการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรในประเทศทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้” นอกจากนั้น นายธันวา ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคลมาโดยตลอด และได้มีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนทางด้านการศึกษาในด้านต่าง ๆ ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ทางเราเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรทางด้านไอที เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในภายภาคหน้า” การแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ (IBM Academic Initiative) ซึ่งไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกที่สนับสนุนมาตรฐานเปิด (open standard) ในการนำเทคโนโลยีของไอบีเอ็มกว่า 100 รายการเข้าไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเรียนในชั้นเรียนทั่วไปหรือเรียนผ่านเว็บในแบบเสมือน (Virtual Classroom) ก็ตาม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/university รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน เข้าไปที่ http://asean.xmlsuperstar.com เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ดีบีทูของไอบีเอ็ม เข้าไปที่ http://www.ibm.com/software/db2 เกี่ยวกับชุมชนผู้ใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูนานาชาติ หรือ ไอดียูจี เข้าไปที่ http://www.idug.org เผยแพร่โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด วีระกิจ โล่ทองเพชร โทรศัพท์ : 02 273 4117 อีเมล์: werakit@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ