iTAP ต่อยอด “ขยะเป็นทอง” สร้างมูลค่าของเสีย-รณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2009 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น iTAP ดึงอาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ เดินเครื่องโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างมูลค่าให้เศษเหล็ก หวังช่วยลดโลกร้อน-ลดของเสียจากอุตสาหกรรม เร่งต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้าน “สยามโกลบอล” ขานรับโครงการ “เฟอร์นิเจอร์เศษเหล็ก” ยันรายได้ดีกว่าชั่งกิโลขายหลายเท่าตัว ความร้อนแรงของ กรีน ดีไซน์ (Green design) กำลังอยู่ในกระแสนิยม เพราะเป็นงานที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อมที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการนำเอาสิ่งของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก เศษผ้า พลาสติก กระดาษ มาสร้างมูลค่าด้วยการออกแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและช่วยลดโลกร้อนได้อย่างมีคุณค่า โครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก ด้วยการนำสิ่งของเหลือใช้มาดัดแปลงสร้างคุณค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มี ผศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญ นายวิรุฬห์ศักดิ์ พูลลาภ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามโกลบอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทมีเศษเหล็กเหลือทิ้งอยู่เป็นจำนวนมาก กระทั่งทราบข่าวว่าโครงการ iTAP มีโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” และได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโดยมี ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา โดยสาเหตุที่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะมองว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกว่า 12 ปีของการก่อตั้งสยามโกลบอล ซึ่งมีความชำนาญด้านวิศวกรรม มีผลงานที่โดดเด่นด้านการผลิตตัวเชื่อมเพื่อรองรับการขยายตัวของคอนกรีตทางด่วนบางนา-บางปะกง และงานโครงสร้างหลังคาสนามบินสุวรรณภูมิ หลังเสร็จสิ้นงานแล้วพบว่ามีเศษเหล็กเหลือกองทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก “แต่ละปีบริษัทฯ ใช้เหล็กมากถึง 3,000 ตัน และมีเหล็กเหลือใช้เฉลี่ย 7-8 % คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 7 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควร ทางเลือกสุดท้ายของโรงงานคือต้องขายทิ้งเป็นเศษเหล็กในราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท ขึ้นอยู่กับราคาเหล็กโลกที่ปัจจุบันราคาเหล็กใหม่จะอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 20-30 บาท” นายวิรุฬห์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเรามองข้ามชิ้นส่วนและเศษเหล็กเหลือใช้มาตลอด แต่เมื่อ ผศ.ดร.สิงห์ เข้ามาเยี่ยมชมโรงงานและขอคัดเลือกเศษเหล็กเพื่อนำไปผลิตเป็นชิ้นงานใหม่ ไม่นานนักแบบร่างเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการดีไซน์มาอย่างเก๋ไก๋ก็ถูกส่งมาให้โรงงานดัดแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์เหล็กที่มีความคงทน สามารถนำกลับไปใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ “งานเปลี่ยนขยะให้เป็นทองค่อนข้างง่ายกว่างานโครงสร้างที่บริษัทฯ ทำอยู่ ความยากของชิ้นงานอยู่ที่การดีไซน์ซึ่งโชคดีที่มี ผศ.ดร. สิงห์ คอยให้ความช่วยเหลือ ประกอบกับการผลิตชิ้นงานจากเศษเหล็กเป็นเฟอร์นิเจอร์นั้นบริษัทสามารถนำอุปกรณ์ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ได้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ และเมื่อประกอบเสร็จชิ้นงานที่ได้จะมีราคาสูงกว่าการนำเศษเหล็กไปชั่งกิโลขายหลายเท่าตัว” ปัจจุบันแม้จะยังไม่มีลูกค้าประจำ เนื่องจากสยามโกลบอลเพิ่งเริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์จากเหล็กเหลือใช้ แต่โชคดีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ชื่อโครงการเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าการขายเศษเหล็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ผ่านมาบริษัทได้นำผลงานเฟอร์นิเจอร์ต้นแบบที่ผลิตจากเศษเหล็กจัดแสดงในงาน TIFF 2009 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้าน ผศ. ดร. สิงห์ กล่าวว่า โครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” คืองานที่ต้องคิดตลอดเวลา หาวิธีนำกลับมาใช้ใหม่ที่หลากหลาย เพราะเป็นงานที่ต้องสร้างคุณค่าให้กับเศษวัสดุเหลือใช้ เป็นเรื่องยากมากที่จะออกแบบชิ้นงานโดยไม่ได้เห็นเศษวัสดุก่อน การเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการจึงหนีไม่พ้นการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่เข้าไปพัฒนาของเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์ เป็นงานเข้าไปอุดรูรั่วในสิ่งที่เรามองเห็น การเป็นที่ปรึกษาของโครงการนี้ ทำให้สามารถนำองค์ความรู้ทางการออกแบบที่มีอยู่มาพัฒนาและเพิ่มพูนศักยภาพของผู้ประกอบการ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้กับเศษวัสดุแต่ละชนิดโดยไม่ต้องลงทุนสูงมาก สำหรับงานเหล็กของ สยามโกลบอลฯ นั้น ความยากอยู่ที่การขึ้นรูป ทำสีและการหยุดสนิม เพื่อรักษาสีส้มอมเหลืองของสนิมให้คงที่ ซึ่งเป็นงานดีไซน์ที่แตกต่างไปจากงานไม้หรืองานผ้า เพราะเฟอร์นิเจอร์จากเหล็กจะเน้นความแข็งแรง ทนทาน แต่เราสามารถทำให้รูปแบบเหล็กเกิดความอ่อนช้อยและเพิ่มความสวยงามให้กับชิ้นงานได้ด้วยการเติมสีสัน เช่น ทำสีใหม่ หรือ เก็บสีสนิมไว้โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการสร้างเหล็กให้เป็นสนิมและรักษาสีสนิมให้พอเหมาะถือเป็นงานที่ท้าท้ายมาก และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการทดลอง ฉะนั้นจึงพูดไม่ได้เสียทีเดียวว่าสนิม คือ “ข้อด้อยของเหล็ก” เพราะบางแบบเราสามารถสร้างจุดเด่นโดยใช้สนิมได้ “การสร้างมูลค่าให้ขยะด้วยการดีไซน์ถือเป็นก้าวสำคัญของการออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำขยะกลับมาใช้งานได้จริง ลดของเสียให้กับภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิมไม่ใช่เป็นเพียงแค่แนวคิดเพื่อลดภาวะโลกร้อนหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น รูปแบบจะต้องน่าสนใจ เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นที่ผลิตออกมาต้องให้ความสำคัญเรื่องการค้าและการส่งออกด้วย ลูกค้าส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์แนว Eco นี้ เป็นกลุ่มคนที่สนใจและตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง คือจุดเริ่มต้นเพื่อจุดประกายให้คนในสังคมเกิดความตื่นตัวและช่วยกันรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ถึงตอนนั้นจึงจะลดปัญหาโลกร้อนได้จริง” ผศ.ดร.สิงห์ กล่าว “กรีน แฟคทอรี่” (Green Factory ) จึงเป็นคำตอบของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลดีต่อธุรกิจและวิถีชีวิตที่สามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต ตรงตามเป้าหมายที่โครงการ iTAP ได้จัดโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง” ขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดีทางโครงการ iTAP ยังเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ โดยสามารถติดต่อได้ที่ คุณชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการ iTAP โทรศัพท์ 02-564-7000 ต่อ 1381 หรือ chanaghan@tmc.nstda.or.th สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ คุณชนากานต์ สัตยานนท์ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1381 หรือ chanaghan@tmc.nstda.or.th หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 114,115 บริษัท ไอแอนด์ไอ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เลขที่ 59/9 ถ.พหลโยธิน 4 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-2701350-4 โทรสาร ต่อ 108

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ