รมว.วิทย์ ชู ผลงาน iTAP เพิ่มศักยภาพ SMEsไทยได้จริง

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2009 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สวทช. รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชื่นชม การทำหน้าที่ของโครงการ iTAP (สวทช.) ระบุ ที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมาก ยอมรับ...ผลงานดีแต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แนะเร่งทำประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ พร้อมผลักดัน iTAP นำผลวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ด้าน รก.ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และ ผจก.เครือข่าย iTAP — มวล. ขานรับนโยบาย เร่งเดินหน้ารุกการพัฒนาเทคโนโลยีเข้าถึง SMEs ในพื้นที่ ด้วยสภาวะการแข่งขันเชิงธุรกิจที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีราคาถูก ส่งผลให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ต้องปรับตัวและเสาะหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อหวังดึงดูดเม็ดเงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ การดึงหน่วยงานภาครัฐอย่างโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถพัฒนาบุคลากร กระบวนการผลิต ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่กรแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดร. คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP (สวทช.) ว่า ที่ผ่านมาโครงการ iTAP ได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคคลากรและพัฒนาขบวนการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชนรายย่อย และเกษตรกรรม ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทางกระทรวงฯ มีอยู่เข้าไปแก้ไขปัญหา โดยผ่านกลไกลของ iTAP ที่มีอยู่ร่วมกับสถาบันการศึกษา และเครือข่ายที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งศูนย์เทคโนโลยีวิศวกรรมย้อนลอย หรือคลินิกเทคโนโลยี ตลอดจนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เป็นต้น “โดยเฉพาะการคัดสรรผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาจากแต่ละภาควิชาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้เสียสละเวลาหลังจากการสอนหนังสือมาเข้าร่วมโครงการฯ ในการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่ง เพื่อนำไปวิเคราะห์และหาทางแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการโดยอาศัยกระบวนการบ่มเพาะทางด้านเทคโนโลยี และด้านการจัดการเพื่อลดความสูญอันเนื่องมาจากขบวนการผลิต การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ จุดมุ่งหมายเพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดทั้งในและนอกประเทศได้ จนกิจการก้าวหน้าเติบโตมีความเข้มแข็งและสามารถอยู่รอดได้ ” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกอีกว่า ที่ผ่านมาโครงการ iTAP มีผลงานด้านการพัฒนามาแล้วอย่างมากมายในการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากบุคลากรหลายหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการและต่อสังคมส่วนรวม แต่การช่วยเหลือที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชนเป็นรายบริษัท ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ค่อยรู้จัก iTAP มากนัก “ ดังนั้น เพื่อให้โครงการ iTAP เป็นที่รู้จักกันทั่วไป จึงน่ามีการประสานไปกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เพื่อจะได้ทราบความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และสามารถเข้าไปช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้ถูกจุด อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกรู้จักบทบาทหน้าที่ของโครงการ iTAP ได้ดียิ่งขึ้น ” ดร. คุณหญิงกัลยา กล่าว รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อเรานำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการจนสำเร็จแล้ว เราต้องนำผลงานออกมาเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายและเกิดผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เพื่อให้รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ของไทย สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้จริงๆ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการระดับรากหญ้าของไทยให้สามารถเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง “ ด้วยศักยภาพที่เรามีอยู่ การที่จะขยายการพัฒนาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่นั้นเป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและการให้การสนับสนุนด้านอื่นๆ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจต้องหาแหล่งเงินทุนจากส่วนอื่นๆ เข้ามาแทนในลักษณะการร่วมทุน ” รมว.วิทยาศาสตร์ ฯ กล่าว ด้าน ผศ.ดร.นิยม กำลังดี ในฐานะรก.ผอ.โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และผู้จัดการเครือข่าย iTAP — มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ว่า เกิดขึ้นเพื่อรองรับและตอบสนองนโยบายของประเทศในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น การนำผลงานวิจัยที่มีศักยภาพต่อยอดการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดคอยให้การสนับสนุนทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญที่จะนำองค์ความรู้เข้าไปช่วยเหลือ หรือการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจการและการพัฒนาธุรกิจให้เกิดความก้าวหน้าแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ให้สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์ในระดับประเทศและในระดับสากลได้ ผศ.ดร.นิยม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายให้การสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจจากผลงานนวัตกรรมให้สามารถเติบโตและดำเนินธุรกิจให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีให้บริการในฐานะ ‘พี่เลี้ยง’ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ การให้คำปรึกษา วางแผน และการจัดทำแผนธุรกิจ การให้ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้ความรู้ทางด้านการบริหารจัดการ การช่วยเหลือทางเทคโนโลยี จนธุรกิจมีความเข้มแข็งสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ “ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานของเครือข่าย ITAP ในพื้นที่ยังมีจุดอ่อน อาจเพราะชื่อโครงการ iTAP ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นยังไม่รู้ว่าเรามีหน้าที่อะไรและจะเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ทำให้การทำงานต้องปรับแผนเชิงรุกเน้นเดินสายแนะนำตัวกับผู้ประกอบการในพื้นที่มากขึ้น ” ผศ.ดร.นิยม กล่าว อย่างไรก็ดี หลังการปรับแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกในช่วง 4 - 5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการในพื้นที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีบริษัทเอกชนหลายสาขาอาชีพ อาทิ โลจิสติกส์ ไอที โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ฯลฯ ให้ความสนใจติดต่อขอเข้ารับการช่วยเหลือโดยเฉพาะการแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต โดยในปีนี้ สามารถดำเนินการช่วยเหลือไปแล้ว 3 ราย ( ผู้ผลิตไอศกรีม 1 ราย โรงงานแปรรูปอาหาร 1 ราย และบริษัทไอทีอีก 1 ราย ) ล่าสุดผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทยสนใจเข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเช่นกัน ผู้สนใจเข้ารับการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ติดต่อได้ที่ โครงการ iTAP (ส่วนกลาง ) โทร. 02-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน สามารถติดต่อเครือข่าย iTAP - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ได้ที่ โทร. (075) 673-522 โทรสาร (075) 673-527 และ (075) 673-525 หรือที่เว็บไซต์ http:// itap.wu.ac.th/ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP (สวทช.) โทร. 02-270-1350-4 ต่อ 104,114 และ 115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ