ก.พลังงาน ตั้งเป้าส่งออกเอทานอล สู่สหภาพยุโรป(EU)เป็นตลาดใหญ่ หลังกลุ่ม EU ประกาศใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 20%

ข่าวทั่วไป Monday June 29, 2009 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น ก.พลังงาน ตั้งเป้าส่งออกเอทานอล สู่สหภาพยุโรป(EU)เป็นตลาดใหญ่ หลังกลุ่ม EU ประกาศใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 20% ภายใน 10 ปี พร้อมเตรียมเดินหน้ากรอบความร่วมมือพลังงานอาเซียนและยุโรป ในเวลา 2 ปี ชี้ชาติอาเซียนได้งบประมาณสนับสนุนจาก EU ร่วม 4 ล้านยูโร หรือประมาณ 200 ล้านบาท นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีพลังงานตามกรอบเอเชีย - ยุโรป (ASEM) ที่จัดเป็นครั้งแรกที่กรุงบรัซเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ 19 — 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพลังงานได้รับทราบถึงการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน กลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพที่สหภาพยุโรป (EU) ได้เริ่มเดินหน้าโครงการ E85 และไบโอดีเซล B30 (สัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล 30% น้ำมันดีเซล 70%) ซึ่ง EU ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 20% และมาจากเชื้อเพลิงชีวภาพสูงถึง 10% ซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1ของโลกแทนสหรัฐอเมริกา จึงนับเป็นโอกาสดีของชาติในอาเซียนซึ่งจะได้เป็นตลาดส่งออกหลักให้แก่ EU โดยเฉพาะผลผลิตเอทานอลจากประเทศไทย และไบโอดีเซลจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ด้านความร่วมมือของกลุ่มชาติอาเซียน และEU ยังได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน หรือ ASEAN — EU work plan 2010 ที่จะใช้เป็นกรอบความร่วมมือในระยะ 2 ปี ซึ่งจะได้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในเรื่องการลงทุนในโครงข่าวพลังงานข้ามประเทศ การพัฒนาและการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ และการส่งเสริมเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดย EU ได้กำหนดงบประมาณความช่วยเหลือให้แก่อาเซียน 4 ล้านยูโร หรือประมาณ 200 ล้านบาท โดยแผนปฏิบัติการด้านพลังงานดังกล่าว จะนำเสนอพิจารณาอนุมัติในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (AMEM 2009) ที่ประเทศพม่า ประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังได้รับทราบถึง กรอบความตกลงเอเชีย - EU ด้านความมั่นคงพลังงาน โดยเฉพาะการค้าและการขนส่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ซึ่งปัจจุบัน EU ได้ออกกฎหมายใหม่ กำหนดให้มี Super Regulator (หน่วยงานกลางในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน) ในระดับภูมิภาคขึ้นแทน Regulator ของแต่ละประเทศ โดยใช้เป็นกลไกกำกับดูแลระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าระหว่างประเทศ หรือ Interconnections ซึ่งชาติในเอเชียจะได้นำแนวคิดดังกล่าว มาปรับใช้ในภูมิภาคต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ