SET Note แนะหากแก้ปัญหาการกระจุกตัวของการออก IPO ได้ จะช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนลงทุนหุ้น IPO ร้อยละ 14

ข่าวทั่วไป Friday April 28, 2006 09:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของหุ้น IPO เกิดจากการกระจุกตัวของอุปทานการระดมทุนและอัตราการเติบโตของอุปสงค์ที่ไม่สมดุล โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีมูลค่ากระจุกตัวที่ไตรมาส 4 มากกว่าไตรมาสอื่นเฉลี่ยประมาณ 3 เท่าตัว พร้อมเสนอแนวแก้ไข คือ เรื่องระยะเวลาของกระบวนการพิจารณาก่อนการนำเสนอขาย โดยหากสามารถแก้ไขได้จะสามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนของ IPO ร้อยละ 14
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุผลการศึกษาเรื่อง IPO (Initial Public Offering) ในรายงาน SET Note ฉบับที่ 4 ปี 2549 ว่าตั้งแต่ปี 2545 พบว่าความต้องการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยพบว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2545-2548 มีการระดมทุนในลักษณะ IPO เข้าสู่ตลาดทั้งสิ้นเป็นมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาทคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 37 ต่อปี ในขณะที่ความต้องการถือครองหลักทรัพย์จากนักลงทุนที่สะท้อนจากจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหรือ active account กลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนในการเข้าลงทุนในหุ้น IPO ที่ไม่ดีเท่าที่ควร
“จากข้อเท็จจริงพบว่าการออกหุ้น IPO ในช่วง 4 ปีมีการกระจุกตัวโดยมักจะพบว่าหุ้น IPO นิยมออกในไตรมาส 4 สูงกว่ายอดรวมของไตรมาส 1-3 เฉลี่ยประมาณ 3 เท่าตัว ซึ่งการกระจุกตัวของการออก IPO ส่งผลต่อผลตอบแทนวันแรกของหุ้น IPO ทำให้หุ้น IPO ที่ออกในไตรมาส 4 มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าผลตอบแทนของ IPO ที่ออกในไตรมาสอื่นๆ ประมาณร้อยละ 20” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาด้วยวิธีทางเศรษฐมิติตั้งแต่ปี 2546-2548 พบว่าปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญของผลตอบแทนที่ดีของการซื้อขาย IPO ในวันแรกขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1. มูลค่าของการระดมทุน IPO ก่อนหน้า และ 2. อุปสงค์ต่อการลงทุนสะท้อนตามจำนวน active account โดยหากอิงสถานการณ์ปี 2547 เพื่อทำการศึกษาการบรรเทาผลกระทบพบว่าหากสามารถแก้ไขปัญหาโดยการลดการกระจุกตัวของหุ้น IPO ให้กระจายไปตามแต่ละไตรมาสได้จะสามารถเพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 14 หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 6.7 พันล้านบาท ในขณะที่หากสามารถเพิ่มจำนวน active account ได้ร้อยละ 10 ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพิ่มผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นเม็ดเงินกว่า 4.7 พันล้านบาท ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาจากการกระจุกตัวพร้อม ๆ กับการเพิ่มฐานนักลงทุนซึ่งเป็นมาตรการทั้งทางด้านอุปทานและอุปสงค์ควบคู่กันไปเพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากหุ้น IPO ที่เหมาะสม
ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวต่อว่า “ในช่วงปี 2546-2548 นั้นภาวะการกระจุกตัวของการออก IPO เกิดจากสาเหตุสำคัญด้านกระบวนการขั้นตอนการพิจารณาและกฎเกณฑ์ด้านงบประมาณที่ใช้เวลานาน เช่น ข้อบังคับเกี่ยวกับงบการเงินโดยมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น กำหนดให้บริษัทต้องจัดส่งงบการเงินฉบับสอบทานไตรมาส 4 ภายใน 45 วันและงบการเงินประจำปีฉบับตรวจสอบภายใน 3 เดือนหลังสิ้นสุดรอบบัญชี ทำให้บริษัทส่วนใหญ่จะสามารถเริ่มยื่นคำขอในเดือนเมษายนก่อนจะผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติจนต้องเข้าซื้อขายในช่วงไตรมาส 4 ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่ไม่ต้องการยืดเวลาการกระจายหุ้นออกไปในไตรมาส 1 ของปีถัดไปถึงแม้ว่าอาจจะทำให้ได้รับผลตอบแทนดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนย่อมต้องการเห็นข้อมูลงบการเงินฉบับใหม่เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ IPO ของบริษัทจดทะเบียน ด้วยสาเหตุนี้ทำให้หุ้น IPO มักกระจุกตัวในไตรมาส 4 เป็นส่วนใหญ่”
ทั้งนี้ ในรายงานได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องกระบวนการโดยเน้นแนวทางการกำกับดูแลแบบวิธีการเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนตาม disclosure basis มากขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกระบวนการยื่นแบบแสดงข้อมูล (Filing) ของผู้เกี่ยวข้องทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) /ผู้นำเสนอขายหลักทรัพย์ (Underwriter) และบริษัทที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบของการกระจุกตัวลง
SET Note ฉบับ 4/2549 นี้ได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยหลักที่มีผลต่อผลตอบแทนของหุ้น IPO ที่เข้าทำการซื้อขายตั้งแต่ปี 2546-2548 ใน SET และ mai จำนวน 122 บริษัท โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงเศรษฐมิติในการทดสอบตัวแปรต่าง ๆ กว่า 10 ตัวแปร ที่อาจส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนของหุ้น IPO (ผลตอบแทนส่วนเกินจากผลตอบแทนของตลาด) ที่เข้าทำการซื้อขายในวันแรก เช่น มูลค่าของ IPO ที่มีการซื้อขายก่อนหน้า อัตราผลตอบแทนของ IPO ที่ซื้อขายก่อนหน้า และ จำนวน active account ขนาดการระดมทุน ชื่อเสียงของผู้นำเสนอหลักทรัพย์ (Underwriter) เป็นต้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวสรุป
ผู้สนใจติดตาม SET Noteได้เพิ่มเติมที่ http://www.set.or.th/th/products_services/research/files/setnote4_2006.pdf
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ