กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--CLOUD NINE
เนื่องด้วย ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงชุดซารอสที่ 136 ขึ้น โดยแนวคราสของสุริยุปราคาในครั้งนี้ จะพาดผ่านประเทศอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ผู้ที่อยู่ในแนวคราสจะสังเกตเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง และเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่กินเวลานานที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ 6 นาที 39 วินาที สำหรับในประเทศไทย จะสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน โดยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. ถึง 9.15 น.
ในการนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สดร.) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 8 แห่งในทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมดาราศาสตร์ไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ ฯลฯ กำหนดจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552 ” ขึ้น ในวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2552เวลา 13. 30 -15.00 น. ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โดยการแถลงข่าวในครั้งนี้ได้มี ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช -รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการจัดงาน โดยมีการชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นมา วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม พร้อมกับฟังการบรรยายการให้ความรู้และชมการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา และการชมสุริยุปราคาอย่างปลอดภัย
กำหนดการแถลงข่าว
13.30 - 14.00 น. ลงทะเบียนแขกผู้มีเกียรติ/ สื่อมวลชน
14.00 - 14.05 น. พิธีกรกล่าวต้อนรับ
14.05 - 14.30 น. การแถลงข่าว “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 22 กรกฎาคม 2552”
โดย
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช -รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม — ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา - รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
มอบเอกสารเผยแพร่และแว่นตาดูดวงอาทิตย์ให้แก่มหาวิทยาลัยเครือข่ายและ
หน่วยงานที่มีความร่วมมือ
14.30 — 14.45 น. ถ่ายภาพร่วมกัน
14.45 - 15.00 น. ถาม-ตอบจากสื่อมวลชน
15.00 น. จบการแถลงข่าว — ชมนิทรรศการสุริยุปราคา