กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
ครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ให้การต้อนรับประธานมูลนิธิแมกไซไซ พร้อมคณะ ที่ร่วมเดินทางมาศึกษาดูงานด้านต่างๆ ของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอ ช่วงวันที่ 21-25 มิถุนายน 2552 ตามโครงการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่มผู้รับรางวัลแมกไซไซรุ่นพี่ รุ่นน้อง และผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ (Peer Learning Exchange Program) และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ติดต่อประสานความร่วมมือกัน
นางมาเรีย คาเมน ที อัลเบลลา (Ms. Maria Carmen T. Abella) ประธานมูลนิธิแมกไซไซ กล่าวชื่นชมความสำเร็จที่มีการพัฒนาสร้างสรรค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของ พีดีเอ ภายใต้การผลักดันของ นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมฯ โดยพูดถึงวัตถุประสงค์โครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทางมูนิธิฯได้ริเริ่ม เพื่อให้รุ่นน้องได้มีโอกาสศึกษาผลการทำงานที่น่ายกย่องของรุ่นพี่ในเชิงลึก โดยหวังให้สามารถนำไปปรับใช้กับงานเดิมที่ทำอยู่ รวมถึงการริเริ่มงานใหม่ๆที่เป็นประโยชน์กับสังคม แต่สิ่งที่สำคัญคือความปรารถนาให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างความสนิทสนมเกื้อกูลระหว่างผู้รับรางวัลแมกไซไซทั้งหมดในเอเชีย บุคคลที่เป็นหัวแรงสำคัญที่ร่วมเดินทางมาครั้งนี้ คือ นายไบรอัน ชุง โต (Mr. Bryan Chung Chi To) ชาวจีนผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซปี 2550 มีบทบาทเรื่องการต่อสู้โรคเอดส์ในประเทศจีน นายอนันดา กาลัปปาติ (Mr. Ananda Galappatt) ชาวศรีลังกา ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซปี 2551 มีบทบาทการดูแลเรียกร้องด้านมนุษยธรรมให้กับเหยื่อภัยสงคราม และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ท่านสุดท้าย นายโจเซฟ แอนโทนี่ เอ็ม เควสซาดา (Mr. Joseph Anthony M.Quesada) ผู้นำเยาวชนที่ทำหน้าที่ดูแลโครงผู้นำเยาวชนของมูลนิธิอายาลา (Ayala young leadership program) ที่มีบทบาทในการอบรมพัฒนาความเป็นผู้นำของเยาวชนคนรุ่นใหม่ สำหรับรางวัลแมกไซไซประจำปี 2552 มีผลงานของบุคคลที่ทำงานเพื่อสังคมชาวไทยอยู่ในการพิจารณาหลายท่าน และมีกำหนดประกาศรางวัลในวันที่ 3 สิงหาคม 2552
การเดินทางมาในครั้งนี้ คณะของมูลนิธิแมกไซไซ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และศึกษาดูงานด้านการระวังป้องกันภัยโรคเอดส์ ด้านพัฒนาชุมชน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย กับเจ้าหน้าที่ของ พีดีเอ โดยได้เดินทางเยี่ยมชมงานพัฒนาชุมชนใน 6 หมู่บ้านที่ประสบภัยจากธรณีพิบัติภัย-สึนามิของจังหวัดกระบี่ และประทับใจการพลิกฟื้นของชุมชนจากล่มสลายสู่ความสำเร็จหลากหลายที่เกิดจากการรวมกลุ่มด้านอาชีพของสมาชิกชุมชน บทบาทของกลุ่มสตรีและเยาวชนในแต่ละหมู่บ้าน คณะฯ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม “คอนดอมไนท์” เดินรณรงค์แจกเอกสารและถุงยางมีชัยให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวตามถนนและสถานบริการในเขตกรุงเทพมหานครย่านถนนสุขุมวิท-นานา ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ที่ทาง พีดีเอ จัดขึ้นเป็นประจำ คณะทั้งหมดที่ดูงานมีความพอใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ และเห็นประโยชน์ในการนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ไปใช้กับงานของตนเองในอนาคต และพยายามขยายแนวความคิดการทำงานสาธารณประโยชน์ไห้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้คณะฯยังมีกำหนดการเดินทางดูงานต่อไปยังประเทศอินเดีย โดยมูลนิธิแมกไซไซจะยังคงจัดกิจกรรมการเยี่ยมเยือนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในลักษณะนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง
นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมฯ กล่าวสนับสนุนการริเริ่มโครงการการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายของผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซทั้งหมดศทั่วเอเชีย หลังจบปิดงาน “แมกไซไซ ฟอรั่ม” โดยความเห็นชอบของทุกฝ่ายที่ต้องการเห็นความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สมาคมฯ จึงเสนอแนวคิด จัดตั้งมูลนิธิไทย-แมกไซไซ เพื่อรวบรวมกิจกรรมกลุ่มสมาชิกและเผยแพร่ผลงานของผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซชาวไทยที่ปัจจุบันมีจำนวน 19 ท่านและเป็นสถาบันอีก 2 องค์กร รวมถึงแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน
งาน “แมกไซไซ ฟอรั่ม” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ถือเป็นเวทีในการยกย่องคุณความดีของบุคคล หรือองค์กรที่ได้อุทิศการทำงานเพื่อสังคมด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ จนได้รับการ ยกย่องให้เป็นบุคคลตัวอย่างของสังคม และสมควรถ่ายทอดเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ยึดถือ รวมถึงใช้ประสบการณ์ แนวคิด แนวปฏิบัติอันเป็นประโยชน์ เพื่อสร้างพลังเข้มแข็งทางความคิดให้กับสังคม งาน “แมกไซไซ ฟอรั่ม” ต่อจากนี้ไปจะเป็นเวทีความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง ผู้ได้รับมอบรางวัลแมกไซไซทั้งจากไทยและจากทั่วเอเชียที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณอาภาพัณณ์ กุลพงษ์
สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน
โทรศัพท์ 02 2294611 ต่อ 717
ข้อมูลเพิ่มเติม :
รางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลและนิติบุคคลในเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จอันดียิ่งในสาขาต่างๆได้แก่ บริการรัฐกิจ (Government Service) บริการสาธารณะ (Public Service) ผู้นำชุมชน (Community Leadership) วารสารศาสตร์,วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ (Journalism, Literature and Creative Communication arts) สันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ (Peace and International Understanding) ผู้นำในภาวะฉุกเฉิน (Emergent Leadership)
ประเทศไทยมีผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซเป็นบุคคล 19 ท่าน และสถาบัน 2 องค์กร ลำดับดังนี้
พ.ศ. 2504 นางนิลวรรณ ปิ่นทอง สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2509 นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว สาขาบริการรัฐกิจ
พ.ศ. 2510 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2514 นายประยูร จรรยาวงษ์ สาขาวารสารศาสตร์, วรรณกรรม
และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์
พ.ศ. 2516 นายแพทย์กระแสร์ ชนะวงศ์ สาขาผู้นำชุมชน
พ.ศ. 2518 พระจำรูญ ปานจันทร์ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2521 นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2524 ศ.นพ. ประเวศ วะสี สาขาบริการรัฐกิจ
พ.ศ. 2526 นายเฟื้อ หริพิทักษ์ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2527 นายทองใบ ทองเปาด์ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2530 ศ.นพ. อารี วัลยเสรี สาขาผู้นำชุมชน
พ.ศ. 2531 โครงการหลวง สาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ
พ.ศ. 2532 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(AIT) สาขาสันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ
พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมือง สาขาบริการรัฐกิจ
พ.ศ. 2537 นายมีชัย วีระไวทยะ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2540 นายอานันท์ ปันยารชุน สาขาบริการรัฐกิจ
พ.ศ. 2541 นายโสภณ สุภาพงษ์ สาขาบริการสาธารณะ
พ.ศ. 2547 นายประยงค์ รณรงค์ สาขาผู้นำชุมชน
พ.ศ. 2548 นายจอน อึ๊งภากรณ์ สาขาบริการรัฐกิจ
พ.ศ. 2550 รศ.นพ. เทอดชัย ชีวะเกตุ สาขาบริการสาธารณะ
* สำหรับประเทศไทย รางวัลมีชัย วีระไวทยะ โดยมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นอีกหนึ่งรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้แก่บุคคลที่ได้กระทำความดีเพื่อสังคม ในสาขาการพัฒนาสังคม