กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ศปถ.
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดเข้าพรรษา โดยเน้นหนัก ๗ มาตรการสำคัญ ดังนี้ มาตรการบังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร มาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของถนน มาตรการควบคุมความปลอดภัยของรถโดยสาร มาตรการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และมาตรการช่วยเหลือกู้ชีพ และกู้ภัย
เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนในช่วงวันหยุดเข้าพรรษา
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า วันเข้าพรรษาปีนี้มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวและทำบุญตามสถานที่ต่างๆเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงดังกล่าว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดให้ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงวันหยุดเข้าพรรษา โดยดำเนินมาตรการสำคัญ ๗ มาตรการ ดังนี้
๑) มาตรการบังใช้กฎหมายด้านการจราจร ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีความผิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติทางถนน ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย สภาพรถไม่ปลอดภัย เมาสุรา ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ขับรถเร็วกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แซงในที่คับขัน ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ขับรถย้อนศร ตั้งจุดตรวจในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติทางถนนทั้งถนนสายหลักและสายรอง รวมถึงกวดขันรถกะบะบรรทุกผู้โดยสารในกระบะท้ายที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน และความพร้อมของพนักงานรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะการใช้ความเร็วในการขับรถ และการดื่มสุรา ๒) มาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของถนน ประสานให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของถนนติดตั้งป้ายเตือนหรือสัญญาณไฟบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เช่น ทางแยก จุดกลับรถ ทางลาดชัน ทางขึ้นเขา และถนนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นต้น ๓) มาตรการควบคุมความปลอดภัยของรถโดยสาร กำชับนายตรวจให้เข้มงวดการตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน และความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทาง โดยตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์และสารเสพติดในร่างกาย รวมทั้งควบคุมระยะเวลาการขับรถให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ๔) มาตรการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้คนในชุมชนไม่ขับขี่ในขณะเมาสุรา และสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร โดยใช้มาตรการทางสังคมในการป้องปรามผู้ที่ไม่มีวินัยในการขับขี่ ๕) มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๑ หากพบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี นอกเวลาที่กฎหมายกำหนด และบริเวณสถานีบริการน้ำมันให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ๖) มาตรการ
ด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้จังหวัดดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจร เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสะดวกและปลอดภัย ๗) มาตรการช่วยเหลือกู้ชีพ และกู้ภัย จัดตั้งศูนย์ควบคุมและสั่งการหน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งด้านบุคลากร และเครื่องมือุปกรณ์ สุดท้ายนี้ หากประชาชนประสบอุบัติเหตุในช่วงวันหยุดเข้าพรรษา สามารถแจ้งเหตุหรือขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 prdpm