กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ซอฟต์แวร์พาร์ค
โครงการจับกลุ่มเอกชนดึงงานภาครัฐคืบ ครึ่งปีโครงการไหลเข้ากว่า 36 ล้าน แก้ปัญหารายเล็กไม่มีโอกาสประมูลไอทีงานรัฐได้อื้อ พร้อมเปิดทางรายใหม่จ่อเข้าร่วม เชื่ออีก 2 ปีเกิดมาตรฐานการประมูลไอทีภาครัฐใหม่
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการ e-Government Software Group ในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า สามารถจัดหางานทางด้านไอทีภาครัฐให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ที่เป็นสมาชิกโครงการได้ถึง 17 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 36 ล้านบาท แต่มีการเซ็นสัญญาเริ่มดำเนินการแล้ว 5 โครงการ มูลค่า 4.8 ล้านบาท หรือ 13.23% ซึ่งที่เหลืออยู่ระหว่างการตกลงในรายละเอียดและดำเนินการในด้านสัญญาต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนสำหรับโครงการนี้คือ ทำให้หน่วยงานภาครัฐได้นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารการจัดการและให้บริการแก่ประชาชนมากขึ้น โดยงานภาครัฐที่ผ่านโครงการนี้จะไม่ได้เกิดจากการที่โครงการไปประมูลแข่งกับภาคเอกชนแต่อย่างใด แต่จะต้องเกิดจากการร้องขอของหน่วยงานรัฐนั้นๆ โดยตรงที่ต้องการให้งานผ่านโครงการนี้ และตัวโครงการไม่ได้มุ่งหวังทางด้านตัวเลขที่เติบโต แต่มุ่งหวังช่วยเหลืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม สร้างความเข้าใจเรื่องการประมูลภาครัฐของทั้งสองส่วน จนเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต ซึ่งเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลังจากรู้ช่องทางและสามารถสร้างกระบวนการ หรือ Best Practice แล้วเข้าประมูลงานได้เองต่อไป
สิ่งที่กำลังถูกท้าทายก็คือ การประมูลโครงการไอทีขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีเอกชนรายใดรายหนึ่งได้โครงการไปดำเนินงาน รูปแบบนี้อาจมีลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากโอกาสที่จะสำเร็จตรงตามเป้าหมายอาจทำได้ยากขึ้น แต่ขณะเดียวกันกับการที่มีการแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อให้เอกชนหลายรายมาประมูล แล้วเน้นการสร้างทีมบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้ความเป็นไปได้ของงานบริการไอทีภาครัฐประสบความสำเร็จมากกว่า
“ที่ผ่านมาปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่องฝีมือของบริษัทไอทีไทย แต่เป็นเพราะขาดความเข้าใจในระเบียบราชการ และความจำเป็นที่ต้องเสนอราคาต่ำสุดในการประมูล ทำให้ TOR ที่จัดทำ ไม่สามารถครอบคลุมถึงสิ่งที่ต้องการได้หมด ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯ ขนาดเล็กที่มีความสามารถ กลับขาดโอกาสในการเข้าร่วมงานกับทางราชการ” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าว
โครงการนี้ร่วมดำเนินงานโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค, สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) และเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค หน้าที่หลักของโครงการคือการเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดกลุ่มบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทยขึ้น เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย พร้อมกับเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ระหว่างผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในโครงการ ยกระดับความเชี่ยวชาญของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะการทำงานในโครงการของรัฐบาล
ปัจจุบันโครงการได้เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกสมาชิกซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์เอกชนรายใหม่อยู่ โดยมีบริษัทที่มีความต้องการเข้าร่วมโครงการ 19 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดลำดับความเชี่ยวชาญและคัดกรองคุณภาพของบริษัท คาดว่าในปีนี้จะมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงจำนวนงานประมูลภาครัฐที่จะผ่านเข้าสู่โครงการนี้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเมื่อรวมกับรายเดิม 6 รายแล้ว จะมีกลุ่มบริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการนี้ 25 ราย
สำหรับแผนดำเนินการของโครงการ e-Government Software Group ในเบื้องต้นได้กำหนดช่วงของการทำงานออกเป็นสามส่วน คือ ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้น วางรากฐานและโครงการสร้างกลุ่มให้ชัดเจน และช่วงที่สองคือปีนี้และปีหน้า จะมุ่งเน้นการสร้าง Branding ของโครงการให้เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของภาครัฐที่เป็นเจ้าของงาน และการยอมรับในตัวของเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องไอทีโดยตรงมาเป็นตัวยืนยัน รวมถึงการสร้างกิจกรรมให้กับสมาชิกโครงการที่เข้าร่วม ต่อจากนั้นในปี 2554-2555 จะก้าวไปสู่การสร้างผลกระทบในวงกว้างต่อการประมูลด้านไอทีภาครัฐ เกิดรูปแบบมาตรฐานในการประมูล รวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชนทางด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น
นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มของการเอ้าท์ซอร์สงานทางด้านไอทีในระดับโลกยังคงมีความต้องการอย่างสูง ซึ่งการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยเปลี่ยนบทบาทเข้ามาขับเคลื่อนด้านการเอ้าท์ซอร์สให้กับภาคเอกชนไทยก่อน จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเป็นบันไดให้ภาคเอกชนของไทยก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น โดยทิศทางการส่งเสริมต้องมุ่งเน้นการกระจายงานทางด้าน Situational Application หรือ ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับงานเสริมที่มีค่า และหลีกเลี่ยงงานประเภท Mission Critical Application หรืองานหลัก
สาเหตุที่แนวโน้มของซอฟต์แวร์เอ้าท์ซอร์สจะเติบโตอย่างสูง เนื่องเพราะ เทคโนโลยีปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่มีหน่วยงานซอฟต์แวร์ใดในโลกที่จะเรียนรู้ได้ทันท่วงทีได้ทั้งหมด โดยรายที่สามารถสร้างต้นทุนต่ำสุดคือ เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับตนเองเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของตนเองต่ำกว่ารายอื่นๆ ถึง 10 เท่า ดังนั้นจำเป็นต้องมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่เก่ง ถูก และตรงเวลา มีคุณภาพมารับงานต่อไปแทน
การสร้างระบบ CMMI ให้กับตนเองหาใช่เส้นทางที่จะประสบความสำเร็จ แต่จำเป็นต้องรู้จักการ Re-Use หรือพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มใหม่ของซอฟต์แวร์คือ Service Model หรือการใช้ซอฟต์แวร์มาบริการ และเปลี่ยนระบบจาก Action Base มาเป็น Resource Base แทน ซึ่งหากบริษัทซอฟต์แวร์รายที่ Re-Use ซอฟต์แวร์ของตนเองได้ดี เมื่อรับงานเอ้าท์ซอร์สแล้วจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำลง
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เปิดเผยว่า หน้าที่ของซอฟต์แวร์พาร์คในโครงการนี้คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทซอฟต์แวร์ที่ซอฟต์แวร์พาร์คนำเสนอเข้าไป โดยในปีนี้ซอฟต์แวร์พาร์คได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกโครงการนี้ ใน 3 เรื่องหลัก คือ ด้านการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐานคุณภาพ ตั้งแต่การอบรมด้านเทคนิคเฉพาะทาง ด้าน PSP (Personal System Process) การพัฒนาองค์กรตามมาตรฐาน CMMI การอบรมสัญญามาตรฐานสำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์ ซึ่งจะทำให้แก้ไขปัญหาการบริหารงานเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้ และการอบรมสัมมนาทางเทคโนโลยีต่างๆ
ในด้านที่สอง คือ การให้สิทธิในการเข้าร่วมอยู่ในศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Incubatee โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจหลากหลายสาขา คอยให้คำแนะนำในเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นด้านมาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ กลยุทธ์การตลาด การบริหารจัดการความต้องการของลูกค้า การเงิน การลงทุน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ, การทำฐานข้อมูลนักพัฒนาซอฟต์แวร์ มีการสร้างเครือข่ายและสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมโครงการ ได้แก่ Microsoft BizSPark โดยบริษัท Microsoft มอบสิทธิการ Download Development Tools มูลค่า 4,000,000 บาท และโครงการ Intel Partner Program โดยบริษัท Intel มอบสิทธิประโยชน์สำหรับบริษัทที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก
ด้านสุดท้าย คือ เรื่องการช่วยขยายโอกาสทางการตลาดซึ่งซอฟต์แวร์พาร์คมีโครงการจำนวนมากรองรับอยู่แล้วคือ การจับคู่ทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศนั้น จะเริ่มจากประเทศบรูไนในเดือนกรกฎาคมนี้ ต่อจากนั้นจะเป็นที่ประเทศจีนที่เมืองเซี๊ยะเหมิน และนานจิง ในเดือนกันยายน และสุดท้ายที่เกาหลีใต้ ในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนั้นยังมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ INNOBIZ ที่เป็นการพบกับแหล่งทุน ทั้งในส่วนของ Angel และ Venture Capital รวมถึงการเข้าร่วมประชุมและจับคู่ธุรกิจในงาน The 3rd Regional Software Park Forum 2009 ที่จังหวัดภูเก็ตในเดือนตุลาคมนี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย
โทรศัพท์ 02-583-9992 ต่อ 1482, 1485
โทรสาร 02-583-2884
อี-เมล์ poolsiri@swpark.org, bds@swpark.org