กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--Triple J Communication
หากปัจจุบันถ้าพูดถึงเรื่องของพลังงาน ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวของเราอีกต่อไป เราสามารถที่จะเรียนรู้จักการอนุรักษ์ ประหยัด และประยุกต์พลังงานที่อยู่รอบตัวเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง
กระทรวงพลังงาน โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึง การดำเนินการเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านพลังงาน ตั้งแต่เยาวชนจนถึงผู้ใหญ่ เพื่อให้คนไทย ได้เห็นคุณค่าของการใช้พลังงานอย่างประหยัด และก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์พลังงานทางเลือก แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่นับวันยิ่งหายากและอาจหมดไป ด้วยการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ซึ่งจะเป็นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนอย่างแท้จริง ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับกลุ่มครูและเยาวชนไว้อย่างน่าสนใจหลายๆโครงการ
โครงการครูพลังงานรอบรั้วโรงเรียน เป็นอีกหนึ่งโครงการ ของกระทรวงพลังงาน ที่ให้ครูแต่ละโรงเรียนได้ศึกษาข้อมูล และเรียนรู้การใช้พลังงานที่ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่ครูจะได้สอนให้กับเด็กนักเรียนของแต่ละโรงเรียน และใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่างของ “บ่อแก๊สหุงต้มจากมูลวัว” แหล่งเรียนรู้ชุมชนพลังงานทดแทน บ้านโคกกลม เป็นหนึ่งโครงการตัวอย่าง ผลงานของ คุณครูรัชนี เปาะศิริ ครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ครูพลังงาน ที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงพลังงาน ให้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์พลังงานแบบ Action Leaning และนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน จนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนพลังงานทดแทนดังกล่าว
บ่อแก๊สหุงต้มจากมูลวัว บ้านโคกกลม นี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทนของนักเรียนโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์แล้ว โรงเรียนอื่นๆ และชุมชนใกล้เคียงยังสามารถใช้บ่อแก๊สแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันได้อีกด้วย นักเรียนและชาวบ้านที่นี่สามารถเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากการนำมูลวัว มูลควายที่มีมากในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้ม ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการทำอาหารของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน
แหล่งเรียนรู้จากบ่อแก๊สหุงต้มจากมูลวัว บ้านโคกกลม ยังถือเป็นตัวอย่างของการบูรณาการของโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ โดยมี ชนิสรา ดวงบุปผา ผู้อำนวยการโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ ที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี รวมไปถึง ชุมชน ที่มีทั้งชาวบ้าน และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคิดริเริ่มโครงการ การสร้างบ่อแก๊ส ที่ได้ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชน และมีกลุ่มนักเรียนที่คอยช่วยในการจัดการบ่อแก๊สแห่งนี้
ด้วยความหวังว่า แหล่งเรียนรู้พลังงานทดแทน จะเป็นเสมือนการจุดประกายให้แก่เยาวชน โดยมีครูเป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการผลิตพลังงานทดแทนที่นักเรียนและชาวบ้านสามารถทำได้เอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร ด้วยการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด