ปรับทัศนียภาพอาคาร ควบคู่กับการประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ ด้วยระบบผนังชีวนิเวศน์ (Bio-Climatic Green Wall)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 1, 2009 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--Triple J Communication ปรับทัศนียภาพอาคาร ควบคู่กับการประหยัดพลังงานแบบง่ายๆ ด้วยระบบผนังชีวนิเวศน์ (Bio-Climatic Green Wall) อีกหนึ่งแนวคิดของกระทรวงพลังงาน ความสวยงามของสิ่งที่พบเห็นเป็นสิ่งที่ใครๆต่างก็อยากสัมผัสและอยากพบเจอ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่มีความเคร่งเครียด และวุ่นวาย หากอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ต่างๆมีความสวยงาม และน่าอยู่ก็จะทำให้มีความสุข สบายตากับผู้อยู่อาศัย และพร้อมที่จะต่อสู่กับเศรษฐกิจที่ราคาน้ำมันขึ้นลงแบบนี้ และหากสามารถช่วยประหยัดพลังงานควบคู่ได้ด้วยก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย วันนี้เรามีตัวอย่าง การออกแบบอาคารบ้านเรือน ที่เรียกได้ว่า มีทั้งความสวยงามและยังประหยัดพลังงานอีกด้วย หากใครผ่านไปผ่านมาแถวๆ โบ๊เบ๊ ที่ตั้งของ กระทรวงพลังงาน คงมีโอกาสได้เห็นการตกแต่งผนังอาคาร เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพของอาคาร ด้วยระบบการใช้งานจากเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยได้เริ่มติดตั้งที่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (อาคาร 9) ของกระทรวงพลังงาน เป็นที่แรก ซึ่งระบบพลังงานหมุนเวียนนี้มีชื่อระบบว่า ผนังชีวนิเวศน์ (Bio-Climatic Green Wall) เป็นการผสมผสานระบบนิเวศน์พรรณไม้และธรรมชาติ ประยุกต์เข้ากับการใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก็คือเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นตัวรับแสงแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วนำมาใช้งานในระบบต่างๆ 2 ระบบ คือ 1. ระบบระบายความร้อนเย็นบนหลังคา (Cooling Roof) ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกนำมาเก็บในแบตเตอรี่ 12 โวลต์ แล้วนำมาปั๊มน้ำจากถังเก็บน้ำขนาด 200 ลิตร ด้านล่างอาคารขึ้นไปตามท่อบนหลังคาแล้วปล่อยให้น้ำไหลตามหลังคามายังรางน้ำฝนแล้วกลับมายังถังเก็บน้ำเป็นวงจร ทั้งนี้มีระบบควบคุมระดับน้ำ โดยเฉพาะในหน้าฝนให้น้ำไหลออกอัตโนมัติในกรณีที่น้ำมีปริมาณมากเกินความจุของถังเก็บน้ำ 2. ระบบม่านน้ำตกแสงอาทิตย์ (Solar Watering System) ออกแบบมาให้ลดปริมาณแสงแดดที่ส่องกระทบผนัง เพื่อลดอุณหภูมิของผนังและเพิ่มความเย็นให้กับพื้นที่ภายในอาคาร ระบบนี้ใช้ไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ถูกนำมาเก็บไว้ในแบตเตอรี่ 12 โวลต์ แล้วนมาปั๊มน้ำจากถังเก็บน้ำขนาด 100 ลิตรที่ตั้งไว้บนชั้นสองของอาคารน้ำจะไหลขึ้นไปบนท่อน้ำที่อยู่ติดกับรางน้ำฝน แล้วหยดลงมาตามสายไนล่อนใสที่ขึงไว้ให้ไม้เลื้อยได้เลื้อยเป็นม่านชีวิต นอกจากนี้ ระบบยังประกอบไปด้วยโคมไฟฟ้าสนามแสงสว่างโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ขนาดไม่ต่ำกว่า 10 Wp (พร้อมแบตเตอรี่ในตัว) โดยไม่ต้องใช้ไฟให้ระเกะระกะอีกด้วย ทราบระบบการทำงานของผนังชีวนิเวศน์ กันไปแล้ว รู้หรือไม่ว่า ผนังชีวนิเวศน์นี้ยังมีประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น สามารถเพิ่มความเย็นและลดการใช้พลังงานในอาคารจากการที่เครื่องปรับอากาศทำงานน้อยลง ช่วยปรับทัศนียภาพของอาคารให้มีความสวยงามโดยนำเอาไม้ประดับนานาชนิดมาให้ความร่มรื่น นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืนได้อีกด้วย อีกทั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์นี้ มีความเหมาะสมสำหรับประชาชนที่อาศัยในชุมชนเมืองอย่างยิ่ง เพราะชุมชนเมืองจะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นกำหนดของพลังงาน แต่ก็ยังมีแสงอาทิตย์ที่สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ทำให้เกิดมลภาวะ ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุปกรณ์บางประเภทเพราะใช้แสงอาทิตย์เป็นตัวกำเนิดไฟฟ้า รวมทั้งระบบนี้สามารถลดสภาวะโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.6 กิโลกรัมต่อหนึ่งหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าโดยน้ำมัน อีกทั้งไม้ประดับชนิดต่างๆที่นำมาใช้ในระบบยังช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย อย่างนี้เรียกได้ว่า คุ้มค่าจริงๆ สำหรับการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราอีกต่อไป สำหรับระบบผนังชีวนิเวศน์นี้ หากใครสนใจจะลองนำไปใช้กับบ้านตัวเองทางกระทรวงพลังงานบอกมาว่าไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์นะจ๊ะ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ