กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--คต.
กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะกรณีเปิดตลาดข้าวตามความผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ณ สนามกีฬาในร่ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ โรงสี เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องจาก 19 จังหวัดเข้าร่วมงาน หลังจากเดินสายรับฟังความเห็นจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศก่อนรวบรวมสรุปเสนอ ครม. บริหารจัดการเปิดตลาดข้าวที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2553
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) ประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิก AFTA มีพันธกรณีจะต้องลดภาษี และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี สินค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่น ๆ ซึ่งได้ดำเนินการลดภาษีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และมีกำหนดจะต้องยกเลิกโควตานำเข้าและลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ผูกพันไว้ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่เจรจาของไทยรวมถึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของไทยในภูมิภาคอาเซียน
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดข้าวตามพันธกรณีและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด กรมการค้าต่างประเทศได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ให้หารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดมาตรการรองรับเพื่อการบริหารจัดการข้าวนำเข้าและแนวทางการปฏิบัติโดยมีเป้าหมายในการรักษาคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย คุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคข้าวไทย ป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูข้าว รวมทั้งป้องกันการนำเข้าข้าวมาสวมสิทธิ์และนำเข้าข้าวGMOs และเพื่อให้การบริหารจัดการข้าวนำเข้ามีความสมบูรณ์ โปร่งใสและสนองความต้องการของภาคประชาสังคม จึงได้จัดเวทีสาธารณะให้ทุกภาคส่วนของประเทศได้มีโอกาสร่วมแสดงความเห็นและเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการเปิดตลาดข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) รวม 6 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่สองที่จังหวัดชัยนาท ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ครั้งที่สามจังหวัดสงขลามีผู้เข้าร่วมจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่สี่และครั้งที่ห้า ที่จังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมจาก 19 จังหวัดภาคอีสาน สำหรับครั้งนี้จัดที่กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสงคราม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครนายก เพชรบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์และตราด ประกอบด้วยผู้ประกอบการค้าข้าว ผู้ส่งออก โรงสี เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงาน
นางสาวชุติมากล่าวในตอนท้ายว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการเปิดเวทีสาธารณะจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการการเปิดตลาดข้าวตามพันธกรณี AFTA ภายในเดือนสิงหาคมและคาดว่าจะสามารถออกเป็นประกาศและระเบียบการนำเข้าข้าวภายใต้พันธกรณี AFTA ได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2553 ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมได้ที่ website กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือ สายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ