ที่ประชุมสภากทม. ถกปัญหาด้านการศึกษากทม.

ข่าวทั่วไป Wednesday July 1, 2009 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. ส.ก.ตั้งกระทู้ถามปัญหาความล่าช้าการก่อสร้างอาคารเรียน และโครงการคอมพิวเตอร์ระยะที่ 3 งบประมาณ 950 ล้านบาท พร้อมเสนอผู้บริหารปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาโรงเรียนกทม. นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ประจำปี พุทธศักราช 2552 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. ชี้แจงความล่าช้าการก่อสร้างอาคารเรียน โรงเรียนกทม. นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตอบกระทู้ถามของนายสมชาย เวสารัชตระกูล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสายไหม เรื่อง การก่อสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการสร้างอาคารเรียนของกรุงเทพมหานคร ที่มีความล่าช้า หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ขั้นตอนของการจ้าง และขั้นตอนการควบคุมงาน รวมทั้งมีแนวทางในการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ ว่า กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้สำนักการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการสำรวจความจำเป็นของโรงเรียน โดยสำนักการศึกษาจะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการควบคุมการก่อสร้างอาคารเรียนจนแล้วเสร็จ สำหรับความล่าช้าของการดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนของปีงบประมาณ 50-51 เนื่องจากในขั้นตอนการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจการเงินและน้ำมันทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างราคาสูง ทำให้ผู้รับจ้างไม่สนใจเข้าประกวดราคา อย่างไรก็ตามสำนักการศึกษาได้ดำเนินการขออนุมัติ ประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่แล้ว นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 52 สำนักการศึกษาได้ดำเนินการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อาคารเรียนในโรงเรียน 47 แห่ง และได้ผู้รับจ้างทุกแห่งแล้ว สำหรับการดำเนินการโครงการต่างๆ ในอนาคต โครงการบางส่วนสำนักการศึกษาได้พิจารณาก่อสร้างอาคารเรียนเองตามศักยภาพที่จะสามารถทำได้ นอกจากนั้นจะมอบให้สำนักงานเขตดำเนินการเอง โดยยึดหลักสำนักการศึกษาดำเนินการก่อสร้างเองหากเป็นงบที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสมทบเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และสำนักงานเขตดูแลรับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่ให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร คาดส่งมอบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาระยะที่ 3 ได้ปีการศึกษาหน้า จากนั้น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตอบกระทู้ถามของ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตห้วยขวาง เรื่อง โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาระยะที่ 1-ระยะที่ 3 ว่า โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 7,489 ซึ่งหมดสัญญาไปแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค. 50 ระยะที่ 2 เป็นการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อระหว่างปี 50-54 จำนวน 1,316 เครื่อง และระยะที่ 3 เป็นโครงการเช่าระบบและพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 950 ล้านบาท เพื่อเช่าระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยโรงเรียนไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ต้องเป็นภาระดูแลรักษา และเพื่อสามารถสนับสนุนการเรียนการสอน และการใช้ระบบ e-Learning โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่าง TOR ระยะที่ 2 และกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคา คาดว่าจะสามารถหาผู้รับเหมาได้ในเร็วๆ นี้ และจะสามารถส่งมอบให้โรงเรียนต่างๆ ได้ใช้ภายในภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษาหน้า ทั้งนี้การจัดให้มีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาได้กำหนดอัตราส่วนไว้ คือ โรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะได้รับ 21 เครื่อง โรงเรียนที่มีนักเรียน 120-239 คน ได้รับ 31 เครื่อง โรงเรียนที่มีนักเรียน 240-1200 ได้รับ 41 เครื่อง โรงเรียนที่มีนักเรียนมากกว่า 1,200 คน ได้รับ 82 เครื่อง และ โรงเรียนขยายโอกาสได้รับรวม 82 เครื่อง เสนอปรับปรุงมาตรฐานการเรียนการสอนตามนโยบายเรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง และนายพิรกร วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้มีคุณภาพ ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีนโยบายพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยจัดให้มีโครงการเรียนดี เรียนฟรี อย่างมีคุณภาพให้แก่เด็กนักเรียนกว่า 4 แสนคน จากโรงเรียนสังกัดกทม.ทั้งหมด 435 แห่ง แต่พบว่านักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.สามารถอ่านหนังสือในระดับคล่องประมาณ 3 แสนคน อ่านได้แต่ไม่คล่อง จำนวน 16,000 คน และอ่านไม่ได้จำนวน 3,600 คน ซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 800 คน และอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 2,800 คน นอกจากนี้ในการประเมินผลความสำเร็จ ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัดกทม.เมื่อปีการศึกษา 2550 พบว่าในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ยังมีผลการเรียน ในระดับ 0 จำนวนหนึ่ง โดยปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองขาดความไว้วางใจในการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในโรงเรียนสังกัดกทม. จึงเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุวัตุประสงค์ตามนโยบาย โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว และจะได้นำเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ปรับหลักเกณฑ์โครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นายอภิมุข ฉันทวานิช สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโครงการที่ดีแต่มีประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติเพราะศักยภาพและความพร้อมของแต่ชุมชนไม่เท่ากัน การถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน ขั้นตอนการดำเนินงาน แนวทางการพิจารณา และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดสรรงบประมาณให้กับแผนชุมชนพึ่งตนเองฯ ยากต่อการปฏิบัติ ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองฯ และง่ายต่อการปฏิบัติ จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจาณาปรับหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งบประมาณ นางทยา กล่าวว่า เพื่อลดความยุ่งยากของการจัดทำแผนชุมชนให้ลดน้อยลง กรุงเทพมหานครได้พิจารณาปรับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยมอบอำนาจให้สำนักงานเขตเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเองได้ แต่จะมีการพิจารณาวงเงินซึ่งเขตสามารถอนุมัติเองได้อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน ไม่ต้องส่งเรื่องมาที่สำนักพัฒนาสังคมเพื่อขออนุมัติ โดยจะมีการกำหนดกรอบในการพิจารณาว่าโครงการใดที่สามารถจัดสรรให้ได้บ้าง เกณฑ์คืออะไร จัดสรรได้โดยมีเงื่อนไขอะไรบ้าง และไม่สามารถจัดสรรได้เพราะเหตุใด โดยขอให้ผู้ที่เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้ง ส.ก. และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อที่สามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าวและจะได้ส่งต่อไปยังคณะผู้บริหารกทม. ดำเนินการต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ