พม. ย้ำผู้บริหารหน่วยงาน ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน นำพาประเทศไทยสู่สังคมแห่งความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2009 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สป.พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย และหัวหน้าศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ก้าวไปสู่สังคมเสมอภาค ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในการขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ในวันพฤหัสบดีที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน เป็นปัญหาที่นานาประเทศทั่วโลกประสบ จึงได้มีความร่วมมือกันของสมาชิกประชาคมโลกตกลงร่วมกันกำหนดพันธะสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งมั่นแก้ไขปัญหา พัฒนาสังคมระดับประเทศ และสังคมโลกร่วมกัน ในรูปแบบต่างๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women — CEDAW) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อปี ๒๕๒๘ และต้องเสนอรายงานการดำเนินงานทุก ๔ ปี หรือแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติร่วมให้การรับรองเมื่อปี ๒๕๓๘ และกลไกหลักด้านนโยบายสตรีของสหประชาชาติ (Commission on the Status of Women — CSW) เป็นต้น เพื่อรองรับการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายขึ้นในภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๔๔ ครอบคลุมทุกกระทรวง กรม ในราชการบริหารส่วนกลาง รวม ๑๒๗ กรมใน ๑๙ กระทรวง และ ๔ หน่วยงานอิสระ ทั้งนี้ ได้มอบหมายผู้ทำหน้าที่ผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer : CGEO) และศูนย์ประสานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point : GFP) รับผิดชอบและจัดทำแผนแม่บทด้านความเสมอภาคหญิงชายด้วย “กลไก CGEO ได้จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลาถึง ๗ ปี แล้ว ซึ่งได้มีพัฒนาการมาตามลำดับ ตั้งแต่การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานเพื่อให้มีความตระหนักและมีองค์ความรู้ด้านมิติหญิงชาย ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ การให้ส่วนราชการจัดทำแผนแม่บทด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายระยะ ๕ ปี การยกย่องประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และแรงจูงใจ การสร้างวิทยากร การบรรจุเรื่องความเสมอภาคหญิงชายเป็นหัวข้อวิชาในการอบรมพัฒนาบุคลากรและกลุ่มเป้าหมายของโครงการกิจกรรมต่าง ๆ และการสร้างความเข้มแข็งให้ CGEO สิ่งที่ท้าทายและต้องดำเนินการต่อไปให้มีประสิทธิภาพ คือ การนำแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงาน ให้มีความรู้ ความตระหนักในประเด็นความเสมอภาคและมิติหญิงชายอย่างต่อเนื่อง โดยต้องจัดให้เป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของหน่วยงานที่ผู้บริหารหน่วยงานต้องให้การสนับสนุนส่งเสริมอย่างจริงจัง” นางนวลพรรณ กล่าว นางนวลพรรณ ล่ำซำ กล่าวต่อว่า จากการที่ตนได้เดินทางเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “วิกฤติเศรษฐกิจและสตรี” (The Economic Crisis and Women) ได้มีการแลกเปลี่ยนและรับทราบถึงการดำเนินการเสริมสร้างความเสมอภาคในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออก และได้มีแถลงการณ์ร่วมโซล (Seoul Communiqu?) เน้นย้ำ ๕ ประเด็นสำคัญ คือ ๑) การดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสตรีอย่างจริงจัง ๒) การตระหนักถึงวิกฤติเศรษฐกิจและผลกระทบที่มีต่อสตรี ๓) การบูรณการมิติหญิงชายสู่ประเด็นสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ๔) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ เศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่ผู้หญิง ๕) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีทางการบริหารและการปกครอง ภาวะความเป็นผู้นำ การสร้างหลักประกันทางสังคมแก่สตรี และการเสริมสร้างความร่วมมือในทุกระดับ “การประชุมประจำปีของกลไกส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายภาครัฐ ก็เพื่อเสริมสร้างเครือข่าย และองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการทำงาน และร่วมกันระดมความคิดเห็นข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายในอันที่จะสร้างความเสมอภาค เป็นธรรม ให้เกิดขึ้นในระบบราชการ และบริการของรัฐที่ไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ส่งผลให้ความเสมอภาคในสังคมไทยมีความเป็นรูปธรรม การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (CGEO) ศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (GFP) ซึ่งถือเป็นผู้ที่มีบทบาท และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลสู่การปฏิบัติ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะช่วยสนับสนุนเรื่องข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สังคมไทยมีความก้าวหน้าเป็นแบบอย่างสังคมแห่งความเสมอภาคอย่างแท้จริง” นางนวลพรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ