รมว.คลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” จ.สุราษฎร์ธานี

ข่าวทั่วไป Thursday July 2, 2009 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” กวดขันให้การดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้ผลสมบูรณ์ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการ “ไทยเข้มแข็ง” เพื่อดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2552 — 2555 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการซึ่งเน้นการลงทุนที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้กับระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพิ่มการกระจายการลงทุนด้านบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานสู่ชนบท โดยจะเน้นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการได้ทันที และ ในขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทและเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยจะต้องสร้างรายได้ กับภาคเอกชนไปพร้อมกัน และเป็นการบรรเทาปัญหาการว่างงานในปัจจุบันด้วย รัฐบาลจึงทำการกลั่นกรองและรวบรวมโครงการต่างๆ กว่า 6,000 โครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสามปีข้างหน้า คิดเป็นวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 17 ของ GDP หากสามารถทำให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี และจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 400,000 — 500,000 คน สำหรับโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมีพันธกิจ 3 ประการคือ 1. เป็นโรงพยาบาลศูนย์ เป็นพี่เลี้ยงของ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง) 2. เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ ด้านโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และศูนย์อุบัติเหตุ 3. เป็นโรงเรียนแพทย์ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อ ชาวชนบท แต่สภาพความเป็นจริงในระยะที่ผ่านมา เกิดความขาดแคลนด้านโครงสร้างสถานที่ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้รับอัตราแพทย์และเครื่องมือเพิ่มเติม แต่ด้านด้านอาคารสถานที่โรงพยาบาลไม่ได้รับเพิ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำให้เกิดความแออัดทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ดังนี้ 1. ความแออัดของผู้ป่วย - ผู้ป่วยนอก โครงสร้างรองรับได้ 1,000 คนต่อวัน แต่ผู้ป่วยมาใช้บริการประมาณ 2,000 คนต่อวัน ทำให้ต้องดัดแปลงห้องตรวจไปตามทางเดิน ระเบียงห้องประชุมและทางเดินภายในอาคาร เป็นห้องตรวจ - ผู้ป่วยใน โครงสร้างรองรับได้ 500 เตียง แต่มีผู้ป่วยเข้าพักวันละประมาณ 800 คน ต้องเสริมเตียงตามระเบียงทางเดิน หน้าห้องน้ำและหน้าลิฟต์ 2. ความแออัดของเจ้าหน้าที่ - ไม่มีอาคารสนับสนุนด้านบริการ เช่น พัสดุ คลังยา จ่ายกลาง ซักฟอก ฯลฯ ต้องกระจายแทรกไปตามอาคารต่างๆ ซึ่งคับแคบ - ขาดแคลนที่พักแพทย์และพยาบาล ในหนึ่งห้องพยาบาลอยู่กัน 4 คน แพทย์ต้องอยู่รวมกัน 2 — 3 คน นายแพทย์ประวิง เอื้อนนทัช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีต่ำกว่ามาตรฐาน หากได้พัฒนาเพิ่มขึ้น จะทำให้มีโรงพยาบาลมีขีดความสามารถในการรองรับการบริการในการเป็นโรงพยาบาลศูนย์ในเขตภาคใต้ตอนบนได้ ส่วนแผน การดำเนินการต่างๆ เช่น การออกแบบ พร้อมจะดำเนินการได้ทันที เพราะได้เตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ปี 2549 แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง อนึ่ง นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าตาม “แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555” โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้รับเงินงบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาท ตามรายละเอียด ดังนี้ 1. อาคารบริการ และสนับสนุนทางการแพทย์ 16 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 31,813 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 560 ล้านบาท 2. อาคารศูนย์บริการโรคหัวใจ มะเร็ง และวินิจฉัยรักษา เป็นอาคาร คสล. 7 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 22,100 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 547 ล้านบาท 3. อาคารพักแพทย์ 88 ยูนิต เป็นอาคาร คสล.8 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 6,991 ตารางเมตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอาคาร มูลค่า 84 ล้านบาท 4. อุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ มูลค่า 109 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ