พม. เปิดเวทีสัมมนาความร่วมมือพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว

ข่าวทั่วไป Friday July 3, 2009 10:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดสัมมนา เรื่อง “กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว: จากนโยบายสู่การปฏิบัติในการจัดการความรุนแรงที่เกิดจากพื้นฐานความแตกต่างทางเพศ” วันพฤหัสบดีที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๓.๐๐ น. ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง พ.ศ.๒๕๕๐ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมสัมมนา นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การมุ่งเน้นพัฒนาทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว จนละเลยการพัฒนาทางสังคมและการพัฒนาคน ได้ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิงในครอบครัวซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขานรับกระแสสากลด้านสิทธิมนุษยชน และได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) และปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (UN Declaration on the Elimination of Violence against Women) แสดงความมุ่งมั่นถึงเจตนารมณ์ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว อย่างจริงจัง นางกานดา วัชราภัย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและเด็กจากความรุนแรงอันเนื่องมาจากเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ (Gender-Based Violence) เป็นลำดับแรก ๆ และร่วมผลักดันให้มีมาตรการทางกฎหมายเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิในการยุติความรุนแรงที่มีต่อเด็กและสตรี ด้วยการประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 นับว่าเป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่ความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็เป็นเพียงเครื่องมือป้องปรามการกระทำผิด การจะเข้าถึงสิทธิและความต้องการของผู้เสียหายอย่างแท้จริงต้องอาศัยมิติทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องดูแล ทั้งด้านกระบวนการใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา กำกับติดตาม และป้องกันเฝ้าระวังในชุมชนจึงจะทำให้กฎหมายฉบับนี้บังเกิดผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม นางกานดา วัชราภัย กล่าวด้วยว่า หลังจากที่กฎหมายฉบับบี้ มีผลบังคับใช้มาแล้วปีกว่า พบว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการ ทั้งในเรื่องของแนวทางปฏิบัติ การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นเวทีให้ได้ร่วมแบ่งปันข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความร่วมมือกัน เพื่อการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา และบำบัดฟื้นฟู ให้บรรลุความสำเร็จในการคุ้มครองเด็ก สตรี จากความรุนแรงในครอบครัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ