กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ธนาคาร เอชเอสบีซี
ผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลกที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดทำขึ้นทุกไตรมาส พบว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ75 ของผู้จัดการกองทุนมองตลาดหุ้นจีนสดใสในไตรมาสที่ 2/2009 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ67 หรือ 2 ใน 3 ของไตรมาสก่อน
ในภาพรวม พบว่า ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมการสำรวจให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นลดลง เนื่องจากผู้จัดการกองทุนลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ22 ในไตรมาสที่ 1/2009 เป็นร้อยละ40 ในไตรมาสนี้ โดยตลาดหุ้นที่มีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนมากที่สุดรวมถึงตลาดยุโรป และญี่ปุ่น โดยร้อยละ36 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นควรลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดยุโรป (เทียบกับร้อยละ22 ในไตรมาสก่อน) ร้อยละ70 เห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น (เทียบกับร้อยละ33 ในไตรมาสก่อน)
ผู้จัดการกองทุนยังคงมองตลาดพันธบัตรน่าสนใจในไตรมาสที่ 2/2009 โดยผู้จัดการกองทุน 7 ใน 10 คนเพิ่มน้ำหนักการลงทุน เทียบกับร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามในไตรมาสก่อน และมีจำนวนผู้จัดการกองทุนเพิ่มขึ้นที่ให้น้ำหนักการลงทุนในทุกตลาดพันธบัตร อาทิ ตลาดพันธบัตรยุโรป คิดเป็นร้อยละ56 เพิ่มจากร้อยละ50 ตลาดพันธบัตรสหรัฐ ร้อยละ44 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง คิดเป็นร้อยละ44 เพิ่มจากร้อยละ33 และตลาดพันธบัตรเอเชีย คิดเป็นร้อยละ38 เทียบกับ ร้อยละ 33
การสำรวจในไตรมาสที่ 2/2009 พบว่า ผู้จัดการกองทุนปรับทัศนะการถือครองเงินสดจาก “เพิ่มน้ำหนัก” เป็น “ลดน้ำหนัก” ถือครองเงินสด โดยร้อยละ25 เห็นว่าควรให้น้ำหนักกับการถือครองเงินสด (ลดลงจากร้อยละ33 ในการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ25 เห็นว่าควรลดน้ำหนักการถือครองเงินสดลง (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ17 ในการสำรวจคราวก่อน)
มิสบอนนี เท ผู้อำนวยการธุรกิจเอชเอสบีซี พรีเมียร์ การบริหารความมั่งคั่งและกลุ่มตลาดขนาดกลาง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า แม้ว่ามูลค่าและราคาหุ้นจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อสิ้นไตรมาสแรก แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็ยังคงไม่แน่นอน และตลาดจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง ผู้จัดการกองทุนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเลือกให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าและโอกาสเติบโต และเน้นลงทุนในตลาดพันธบัตรที่มีความผันผวนน้อย เพื่อกระจายพอร์ตลงทุนอย่างเหมาะสม
“ตลาดหุ้นจีนยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากดัชนีเศรษฐกิจล่าสุดเริ่มส่งสัญญาณว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจในประเทศแล้ว”
บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลกรวม 12 แห่ง1 ที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดสำรวจความคิดเห็นเป็นรายไตรมาสนี้ ยังวิเคราะห์ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Fund under management: FUM) กระแสเงินลงทุนทั่วโลก (Global money flows) และความเห็นของผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ โดยกระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net money flow)2 คำนวณจากความเคลื่อนไหวของปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดตราสารประเภทเดียวกัน
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2009 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุน 12 แห่งที่ร่วมในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.8 ของประมาณการปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (Total global FUM)3
ผลการสำรวจพบว่าเมื่อสิ้นไตรมาส 1/2009 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการลดลง 102 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 4.05 จากไตรมาส 4/2008 โดยกองทุนหุ้นมีปริมาณเงินลดลงสูงสุดถึง 85.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ กองทุนผสมและกองทุนพันธบัตรมียอดเงินลดลง ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินกลับมียอดเงินสูงขึ้น
กระแสเงินลงทุนสุทธิ เทียบเป็นร้อยละของปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจในไตรมาสที่ 1/2009
ประเภทตลาด และตราสาร สิ้นไตรมาส1/2009 สิ้นไตรมาส4/2008
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging markets equities) -1.6% -9.2%
ตลาดหุ้นจีน(Greater China equities) +5.2% -4.4%
ตลาดหุ้นทั่วโลก(Global equities) -2.7% +3.3%
ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง -5.4% -11.9%
(High-yield/emerging markets bonds)
ตลาดพันธบัตรยุโรป (รวมสหราชอาณาจักร) +9.2% +8.7%
(Europe (including UK) bonds)
ตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา (US bonds) +1.7% +2.9%
ตลาดหุ้นจีนเริ่มมีปริมาณเงินทุนไหลเข้าในไตรมาสที่ 1/2009 หลังจากที่มีการถอนการลงทุนจากตลาดนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในการฟื้นตัวและโอกาสเติบโตของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ การที่นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงในตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงเพิ่มขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพและตลาดพันธบัตรกำลังปรับตัวดีขึ้น
มิสเท กล่าวว่า “แม้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจึงควรจะหารือกับที่ปรึกษาการเงินอย่างสม่ำเสมอเพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยพยายามกระจายการลงทุนในพอร์ตอย่างเหมาะสม ขณะที่นักลงทุนกำลังมองหาโอกาสทำกำไรในตลาดหุ้น เช่นในตลาดหุ้นจีน ก็ยังคงระมัดระวังในการลงทุน โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตลาดพันธบัตรภาคเอกชนที่มีศักยภาพ ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนพยายามแสวงหาการลงทุนที่มั่นคง โดยมองการถือครองเงินลงทุนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จนกว่าจะเห็นโอกาสการฟื้นตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจโลก”
เอชเอสบีซี ได้จัดทำ HSBC Fund Flow Tracker ซึ่งเป็นดัชนีวัดกระแสเงินลงทุนสะสมทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 11 ไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับกองทุนหุ้น โดยแสดงกระแสเงินไหลเข้าสุทธิ (Net inflows) ระหว่างไตรมาส 4/2008 ถึง ไตรมาส 1/2009
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609 หรือ 0-2614-4606