โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย" ประสิทธิผลจากการผนวกวิธีผ่าตัดกับเทคโนโลยี ที่ให้คุณประโยชน์นานัปการแก่ผู้ป่วย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday March 29, 2006 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ "การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย" ซึ่งผสมผสานระหว่าง “การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery for Total Knee Arthroplasty — MIS TKA)" กับ "การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องเข้ามาช่วยในการผ่าตัด (Computer Assisted Solutions — CAS EM)" โดยศาสตราจารย์นายแพทย์อัลเฟรด เทรีย ผู้ริเริ่มในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีใหม่จากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เกียรติเป็นผู้สาธิตและเป็นวิทยากรในการฝึกอบรมและบรรยายให้แก่แพทย์สาขากระดูกและกล้ามเนื้อทั่วประเทศ
MIS TKA เป็นการผ่าตัดที่ทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย โดยมีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กลงมาก ใช้วิธีการที่ไม่ต้องตัดกล้ามเนื้อรอบข้อ จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว มีอาการเจ็บปวดที่บาดแผลน้อยลง รวมทั้งใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง ปัจจุบัน “การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA)” สามารถผนวกกับ “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องเข้ามาช่วยในการผ่าตัด (CAS EM)” ได้อย่างสมดุล ซึ่งเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดมากยิ่งขึ้น จนกลายมาเป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ล่าสุดคือ "การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย"
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตและฝึกอบรมทางด้าน “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย” ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สถาบันจุฬา-ซิมเมอร์ ตึกเจริญ-สมศรี เจริญรัชภาคย์ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 ให้กับนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระดูกและกล้ามเนื้อจากโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำการผสมผสานสองเทคโนโลยีใหม่ ระหว่าง "การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA)" กับ ”การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องเข้ามาช่วยในการผ่าตัด (CAS EM)” มารักษาผู้ป่วยในประเทศไทย
นวัตกรรมใหม่นี้นับว่าเป็นคุณประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และวงการแพทย์สาขากระดูกและกล้ามเนื้อ อนึ่ง การอบรมแก่แพทย์สาขากระดูกและกล้ามเนื้อในครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่เทคโนโลยีทางการแพทย์สาขากระดูกและกล้ามเนื้อในวงกว้างต่อไป
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA) เป็นวิธีที่ได้ผลดีกว่าการผ่าตัดวิธีดั้งเดิมในแง่ของแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กลง จากเดิมแพทย์ต้องผ่าเปิดปากแผลยาวประมาณ 8-10 นิ้ว แต่วิธีใหม่จะทำให้แผลผ่าตัดยาวเพียง 4-6 นิ้ว ซึ่งลดอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบเข่าและความเจ็บปวดจากการผ่าตัด เสียเลือดจากการผ่าตัดน้อยลง รวมถึงแผลเป็นจะมีขนาดเล็กลงอีกด้วย มีผลทำให้คนไข้ฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้อย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยี ”การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องเข้ามาช่วยในการผ่าตัด (CAS EM)” เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งช่วยให้แพทย์ตรวจสอบจุดอ้างอิงของกระดูกในข้อตามกายวิภาค ก่อนที่จะทำการตัดหรือเจียรกระดูก เพื่อให้ได้มุมตัดและความหนาของชิ้นกระดูกที่จะตัดออกตามที่ต้องการ ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ระบบการใช้คอมพิวเตอร์นำร่องแบบเดิมได้พัฒนาการส่งข้อมูลทางกายวิภาคของข้อเข่าสู่คอมพิวเตอร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้อุปกรณ์เคลื่อนผ่านบริเวณผิวหน้าของข้อเพียงชั่วครู่ ก็สามารถส่งข้อมูลรูปร่างของกระดูกเข้าสู่คอมพิวเตอร์ได้โดยง่าย แล้วสร้างภาพข้อจำลองของผู้ป่วยขึ้นมาได้ทันที ศัลยแพยท์จะสามารถใส่หมุดส่งสัญญาณที่มีขนาดเล็กลงไปในกระดูกแทนการฝังเสาส่งสัญญาณขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้สามารถผ่าตัดวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบการใช้คอมพิวเตอร์นำร่องแบบเดิมจำเป็นต้องฝังเสาส่งสัญญาณเข้าที่กระดูก โดยเสาส่งสัญญาณนี้มีขนาดใหญ่ และต้องฝังทั้ง 2 ฝั่งของข้อเข่าบน (Femur) และข้อเข่าล่าง (Tibia) อันส่งผลให้ต้องเปิดปากแผลขนาดใหญ่ หรือต้องกรีดแผลเพิ่มอีก 1-2 แห่งเพื่อฝังเสาส่งสัญญาณ อีกทั้งการฝังเสาส่งสัญญาณขนาดใหญ่ลงไปที่แผลผ่าตัดอาจมีผลให้คนไข้ที่มีภาวะกระดูกบาง อาจมีรอยร้าวบนกระดูกได้
ล่าสุด "การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (MIS TKA)" กับ “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องช่วยในการผ่าตัด” ได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เมื่อการผ่าตัดได้ผนวกเข้ากับ ระบบการตรวจสอบโดยใช้คอมพิวเตอร์ระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electro Magnetic - EM)
“ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้มาสาธิตและบรรยายเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบใหม่นี้ในประเทศไทย” ศาสตราจารย์นายแพทย์อัลเฟรด เทรีย ผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย กล่าว
“การผนวกทั้งสองเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ผมเชื่อว่าทั้งคนไข้และศัลยแพทย์จะได้รับประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความแม่นยำมากขึ้นให้กับการผ่าตัดแบบเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถเห็นภาพระหว่างการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำในทันที เพิ่มความถูกต้องของตำแหน่งที่จะผ่าตัดสูงขึ้น และยังได้รับข้อมูลจากการวางตำแหน่งต่างๆ ในทันที ลดอัตราเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไข และยังลดการตัดหรือเจียรกระดูกที่ไม่จำเป็น สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวของข้อได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้นด้วย”
ศาสตราจารย์นายแพทย์พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การอบรมและการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ที่จัดโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และซิมเมอร์ จะเป็นประโยชน์ต่อนายแพทย์ทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อในประเทศไทยให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องการผนวกสองเทคโนโลยีดังกล่าว และในอนาคตเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในประเทศไทยจะได้รับความบาดเจ็บน้อยของเนื้อเยื่อลงจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และแผลเป็นก็เล็กลง ความกังวลเรื่องการผ่าตัดจะไม่เป็นปัญหากับผู้ป่วยอีกต่อไป ประโยชน์ที่ได้รับมีผลดีทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย”
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อารี ตนาวลี อาจารย์ประจำภาควิชากระดูกและกล้ามเนื้อ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “เรายินดีมากที่ได้ต้อนรับผู้คิดค้นนวัตกรรม MIS TKA จากสหรัฐอเมริกา มาบรรยายและสาธิตในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่นายแพทย์ทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อในประเทศไทยเกี่ยวกับการผ่าตัดวิธีใหม่ เรามุ่งมั่นเสมอเพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดการบาดเจ็บ หรือเจ็บปวดจากบาดแผลให้น้อยที่สุด และเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้นำเทคโนโลยีซึ่งมีคุณประโยชน์มาก มาสู่ประเทศไทย เทคโนโลยีดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ทั้งแก่คนไข้และศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดด้วยนวัตกรรมใหม่นี้”
นอกจาก วงการแพทย์สาขากระดูกและกล้ามเนื้อที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจะได้เรียนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในความสำคัญของการผนวกสองเทคโนโลยี ทั้ง “การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดทำให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย ” กับ “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องช่วยในการผ่าตัด” ซึ่งเป็นระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electro Magnetic - EM) จนกลายมาเป็นเทคโนโลยีผสมผสานใหม่ที่เรียกว่า “การใช้คอมพิวเตอร์นำร่องสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมชนิดเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย” แล้ว ยังสามารถสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและกล้ามเนื้อให้แพร่หลายในประเทศไทยอีกด้วย
สอบถามรายละเอียด หรือต้องการภาพที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่:
ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วาน / ธนิตศักดิ์ พิทักษ์สินากร เลขานุการศาสตราจารย์นายแพทย์ พิบูลย์ อิทธิระวิวงศ์
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์
บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทร 0-2260-5820 ต่อ 114 โทร. 0-2256-4510
โทรสาร 0-2260-5847-8 Email: ortho@md.chula.ac.th
อีเมล์ tqprthai@tqpr.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ