กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
6 เดือน ของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม กับภารกิจเร่งด่วนและสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่จะต้องนำประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก และนำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนมาสู่ประเทศ เดินหน้า 5 นโยบายพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่การพึ่งพาตนเอง
กระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ได้กำหนด 5 นโยบายหลักด้านพลังงาน เพื่อเป็นการช่วยเสริมแรงให้แก่รัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
1. เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงควบคู่กับการบริหารทรัพยากรของประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.52 ได้มีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 เพื่อให้ปริมาณสำรองอยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงจากแผนเดิม 5,627.8 เมกกะวัตต์ในปี 2558 สำหรับในช่วงปี 2559-2564 จะพิจารณาทบทวนแผนโดยใช้ข้อมูลอัตราการโตของเศรษฐกิจที่จัดทำใหม่ โดยมีหลักการ คือ การปรับลดการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น
2. พัฒนาพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ
กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551 — 2565) เพื่อเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนด้านสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2565
“ตามเป้าหมาย จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานได้มากกว่า 460,000 ล้านบาทต่อปี และทำให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนได้กว่า 382,240 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากกว่า 40,000 คน”
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมีข้อเสนอส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) แยกตามประเภทเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงส่วนเพิ่มฯใหม่ ซึ่งมีนัยสำคัญด้านการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้กับโครงการขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอรับ Adder และลงทุนในพลังงานทดแทนมากกว่า 2,000 รายโครงการ คิดเป็น 11,918 เมกกะวัตต์ (ทั้ง SPP และ VSPP) คาดว่าจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชนได้อีก 420,000 ล้านบาท
การส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ขยายผล เพิ่มส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลปกติและ B5 จากเดิมลิตรละ 1 บาทเป็นลิตรละ 3 บาท ส่งผลให้มีการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านลิตร/วัน เป็น 1.6 ล้านลิตร/วัน โดยที่ยอดการใช้น้ำมัน B5 เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว (100%) นับจากเดือนกันยายน 2551 โดยเพิ่มจาก 11.8 ล้านลิตร/วัน เป็น 23.6 ล้านลิตร/วัน ในเดือนเมษายน 2552
“กระทรวงพลังงาน ยังยืนยันการใช้นโยบายเดิม คือการบังคับผสมไบโอดีเซล 2% หรือ B2 ควบคู่ไปกับความสมัครใจขาย B5 โดยจะยังคงใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล B5 ต่อไป”
สำหรับการส่งเสริมเอทานอล หลังจากได้ผลักดันการใช้เชื้อเพลิงเอทานอลกลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 และส่งเสริมให้มีรถยนต์ FFV เพื่อรองรับการขยายการใช้เอทานอล โดยได้กำหนดกลไกเสมือนการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 3% และลดอากรนำเข้า (Import Duty) จาก 80% เหลือ 60% เพื่อให้มีรถ FFV ในประเทศอย่างน้อย 1,000 คัน ในปี 2553
3. การกำกับดูแลราคาพลังงาน
รัฐบาลปัจจุบันได้ต่ออายุ “6 มาตรการ 6 เดือน” ไปอีก 6 เดือน ยกเว้นมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ส่งผลให้ยังคงราคาขายปลีก LPGในภาครัวเรือนไว้ที่ 18.13 บาท/กิโลกรัม และ ราคา NGV ที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม พร้อมกับใช้กลไกการบริหารกองทุนน้ำมันฯเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน จากการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน
4. การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงพลังงานได้ผลักดันให้มีการออกกฎกระทรวงด้าน Building Energy Code ซึ่งกำหนดลักษณะการใช้พลังงานของอาคารที่มีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตรม. และ ISO พลังงานซึ่งเปรียบเสมือนมาตรฐาน ISO ด้านการอนุรักษ์พลังงานในอาคาร ทั้งนี้ได้มีโครงการรณรงค์ให้มีการใช้หลอดไฟประสิทธิภาพโดยได้แจกจ่ายไปแล้วกว่า 776,000 หลอดให้กับวัดกว่า 35,000 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนและมัสยิดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ได้กำหนดโครงการจังหวัดนำร่องในการประหยัดพลังงานโดยเน้นใน 4 จังหวัดในลักษณะของ SML (S=แม่ฮ่องสอน M=พิษณุโลก และกระบี่ L=นครราชสีมา) เพื่อให้เป็นต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงาน
5. การพัฒนาพลังงานควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
กระทรวงพลังงานได้มีส่วนในการส่งเสริมกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism — CDM) ซึ่งที่ผ่านมามี 75 โครงการที่ได้รับการออกหนังสือรับรอง LOA แล้วจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกโดยมีศักยภาพในการลดปริมาณ CO2 ได้ถึง 5.12 ล้านตัน CO2/ปี และจาก 75 โครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการในระดับสากลที่ประเทศเยอรมันแล้ว 16 โครงการโดยได้รับการขึ้นทะเบียนกับ CDM Executive Board และมี 2 โครงการที่ได้รับ CERs แล้วซึ่งเป็นโครงการด้านพลังงาน
1. โครงการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าจากน้ำเสียโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง โดย Korat Waste to Energy Co.Ltd. (ผู้รับซื้อคือกลุ่มประเทศ EU) ปริมาณ CO2 ที่ลดได้คือ 714,546 ตัน CO2/ปี
2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบโดย A.T. Biopower Co.Ltd. (ผู้รับซื้อคือประเทศญี่ปุ่น) 100,678 ตัน CO2/ปี
นอกจากนี้ ยังได้0ขยายพื้นที่ในการควบคุมไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิง (Vapor Recovery Unit) จากสถานีบริการและคลังน้ำมันจาก 4 จังหวัดเป็น 11 จังหวัด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานของพนักงานในสถานีบริการดีขึ้น
โดยทั้งหมดนี้ กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน
นับเป็น 6 เดือน ที่ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในการบริหารพลังงาน ให้ประชาชนชาวไทยสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไปได้และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวน พร้อม มุ่งมั่นบริหารพลังงานอย่างยั่งยืน ให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมีพลังงานใช้อย่างพอเพียง