กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--McKinnon & Clarke
กระแสความตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสภาวะโลกร้อน เข้ามามีบทบาทต่อความเคลื่อนไหวของธุรกิจทั่วโลกมากขึ้นตามลำดับ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรแต่ละมุมโลก ทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ถูกมองว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายสิ่งแวดล้อมแหล่งใหญ่ที่สุด ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมผ่านธุรกิจที่ทำอยู่
บริษัท McKinnon & Clarke ที่ปรึกษาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทั่วโลก ได้นำเสนอการบริการ บริหารจัดการก๊าซคาร์บอน (Carbon Management) เป็นบริการที่เปิดตัวเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดการ ลดการปล่อยก๊าซคาร์ บอนของสถานประกอบการแต่ละแห่ง เพื่อให้บริษัทนั้นสามารถรักษาสภาพแวดล้อมและเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจมีศักยภาพยิ่งขึ้น
คริส ดาเวนพอร์ต ผู้จัดการบริหารกลุ่มด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม บริษัท McKinnon & Clarke กล่าวว่า โครงการให้บริการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนเป็นโครงการใหม่ที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการทั่วโลก ทั้งประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย เนื่องจากมองเห็นถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจบริการประเภทนี้ และมองว่าจะมีผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในโซนเอเชีย
ขณะนี้ประเทศในแถบยุโรปที่มีพันธสัญญาต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามพิธีสารเกียวโต ที่มีเป้าหมายว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 5.2% จากเดิมที่เคยปล่อยอยู่ในปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2555 และต้องลดให้ได้ 30% ภายในปี 2563 และ 50% ภายในปี 2593
ส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศยุโรปและประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถเลือกเข้ามาลงทุนในประทศที่กำลังพัฒนา เพื่อพัฒนาโปรเจกต์ที่นำมาซึ่งการลดก๊าซคาร์บอนและเกิดคาร์บอนเครดิต ค่าใช้จ่ายในการลงทุนถูกกว่าลงทุนทำเองในยุโรป
สำหรับประเทศในโซนเอเชียหรือประเทศแอฟริกาใต้ ไม่ได้มีกฎบังคับให้ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทำให้ประเทศอื่นๆ ที่มีพันธสัญญาต้องการเข้ามาสร้างคาร์บอนเครดิต โดยเข้ามาลงทุนใน โปรเจกต์ว่าด้วยกลไกพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism : CDM) ในประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆ และนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ “ลด” ได้จากโครงการเหล่านี้ไปขอใบรับรองในรูปของ CERs (Certified Emission Reductions) CERs นี้เองเป็นคาร์บอนเครดิตประเภทหนึ่งที่ซื้อขายในตลาดคาร์บอน และประเทศพัฒนาแล้ว สามารถนำ CERs เหล่านี้ไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซตามพันธกรณี
ในตลาดโลกมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านกลไก CDM ที่ออก CERs โดยประเทศที่ไม่มีพันธสัญญา ดังนี้ จีน 42.74% อินเดีย 22.77% เกาหลี 14.02% บราซิล 11.25% เม็กซิโก 2.14% เวียดนาม 1.68% และอื่นๆ อีก 5.39% (ข้อมูลอัพเดต ณ เดือนมี.ค. 2552)
กลไก CDM จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่พัฒนาขึ้น เพื่อนำมาซึ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในไทย ตลอดจนปัจจัยด้านราคาพลังงานที่ขึ้นลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และปริมาณความ ต้องการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคา ซื้อขายคาร์บอนมีแนวโน้มสูงขึ้น
ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2552 มีราคาซื้อขายอยู่ที่ระดับ 11.8 ยูโรต่อยูนิต (Certified Emission Reductions) ซึ่งในปี 2550 มีปริมาณซื้อขายคาร์บอนที่ระดับ 2,700 ล้านตันคาร์บอน มูลค่า 4 หมื่นล้านยูโร และในปี 2551 มีปริมาณซื้อขาย 4,900 ล้านตันคาร์บอน มูลค่า 9.2 หมื่นล้านยูโร
ปัจจัยด้านราคาซื้อขายจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอีกตัวกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น เพราะถือเป็นการหารายได้ให้กับบริษัทอีกวิธีหนึ่ง
นอกจากนี้ แรงผลักดันจากลูกค้าก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจากขณะนี้กระแสตื่นตัวมีมาก ลูกค้าจึงตระหนักถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละบริษัทมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิต ว่า บริษัท คู่ค้ามีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษา สิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน
จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการต้องประเมินการทำงานของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่าบริษัทมีกระบวนการผลิตและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนใหญ่ที่โรงงานทำก็คือ ลดใช้พลังงานทุกชนิด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและก้าวไปสู่การทำการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนภายในสถานประกอบการ เพื่อนำผลการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยรายงานถึงผลของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากสถานประกอบการ (Carbon Footprint) เพื่อพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่าบริษัทมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ฉลากคาร์บอน (Carbon Label) จะเป็นผลจากการประเมินการลดก๊าซ เรือนกระจกในกระบวนการผลิต โดย ฉลากคาร์บอนจะแสดงให้ผู้บริโภค ได้รับทราบว่าในกระบวนการผลิตสินค้าสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าใด หลังจากที่ผู้ประกอบการ ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแล้ว
ขณะที่รายงานผลการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการประกอบการ (Carbon Footprint) สามารถแสดงข้อมูลให้ ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การผลิต ขนส่ง การใช้งาน และกำจัด เมื่อกลายเป็นของเสีย ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจซื้อของ ผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
การที่แต่ละบริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและลงทุนดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าในตลาดโลก เพราะขณะนี้ลูกค้าให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หากบริษัทไม่มีการดำเนินนโยบายในด้านนี้ หรือมีน้อยกว่าคู่แข่งก็จะเสียเปรียบ เนื่องด้วยทุกประเทศกำลังต่อสู้กันในด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม
ดาเวนพอร์ต กล่าวว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ประเทศคู่ค้าจะนำประเด็นนี้มาเป็นกำแพงทางการค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในยุโรป ซึ่งการที่บริษัทไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะทำให้สินค้าแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกลำบากมากขึ้น
โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องการส่งออกสินค้าและบริการไปยังยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา สินค้าจะต้องมีคุณสมบัติตาม ที่ลูกค้ากำหนดจึงจะสามารถสร้าง ความแตกต่างจากคู่แข่ง ทั้งด้านคุณภาพ ราคา และความมีชื่อเสียงของบริษัทได้ ขณะเดียวกันการลดใช้พลังงานหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะสามารถช่วยลดต้นทุนผลิตได้
“การให้บริการบริหารจัดการคาร์บอนในโซนเอเชียเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้บริษัทมีความสามารถแข่งขันในด้านส่งออกสินค้าและเพิ่มโอกาสขยายตลาด ไปยังตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ส่งออกสินค้าเป็นหลัก การที่มีสินค้า ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าในยุโรปและที่อื่นๆ ได้มากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา” ดาเวนพอร์ต กล่าว
ด้านมาตรการส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในไทยของรัฐบาล มองว่า รัฐบาลไทยให้การส่งเสริมเป็นอย่างดี มีการกำหนดแผนและส่งเสริมให้โรงงานลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยออกใบประกาศรับรองแก่โรงงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ ซึ่งใบประกาศนี้จะเป็นเครื่องยืนยันสำหรับบริษัทว่าสามารถ ลดการปล่อยก๊าซได้จริง หากประเมินแล้วไทยยังมีมาตรการที่ดีกว่าบางประเทศที่ ไม่มีเป้าหมายใดๆ
ดาเวนพอร์ต กล่าวว่า การเข้ามาให้บริการดังกล่าวในไทย เป้าหมายที่จะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละบริษัทและสถานการณ์ภายในบริษัทนั้นๆ
ปัจจุบัน การให้คำปรึกษาจะเข้าไปดูแลว่าจะพัฒนาจากเดิมได้อย่างไร เพราะไม่ได้ต้องการให้แข่งขันกับบริษัทอื่นๆ แต่ต้องการให้เกิดการแข่งขันกับการดำเนินการของบริษัทเอง ถือเป็นจุดเด่นของการให้บริการ โดยพัฒนาจากจุดที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมจนประสบผลสำเร็จ
นอกจากนี้ บริษัท McKinnon & Clarke ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากหลากหลายสาขามาให้คำปรึกษาและสามารถบูรณาการ ให้บริหารจัดการก๊าซคาร์บอนได้ เริ่มตั้งแต่ให้คำแนะนำเรื่อง ลดการใช้พลังงาน แต่ยังดูแลเรื่องทำรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอน ดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำปรึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโปรเจกต์ว่าด้วยกลไก CDM ได้อีกด้วย
กลุ่มเป้าหมายในการให้บริการไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ยังสามารถให้คำปรึกษาแก่กลุ่มผู้ประกอบการภาคบริการ เช่น โรงแรม ได้เช่นเดียวกัน และมองว่าอุตสาหกรรมประเภทอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสินค้าเกษตรน่าจะเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกตามที่กล่าวไว้เบื้องต้น
ก่อนหน้านี้ บริษัทเริ่มเข้ามาทำกิจการในเอเชียเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีลูกค้าอยู่ทั้งในไทย อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทุกวันนี้ลูกค้าอยู่ในไทยมีมากกว่า 200 ราย อยู่ในทุกประเภทกิจการ ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมหนัก เหล็ก พลาสติก เป็นต้น
ดาเวนพอร์ต กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ระยะสั้นคงส่งผลกระทบต่อการลงทุนในโปรเจกต์ว่าด้วยการลดก๊าซคาร์บอนบ้าง ทำให้การลงทุนชะลอตัวลง แต่ในระยะยาวผู้ประกอบการคงจะต้องคิดถึงขีดความสามารถในการแข่งของบริษัทมากกว่า ไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 343 9227 Laddawan Tantisantiwong