นักวิชาการและประชาชนหนุนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday July 9, 2009 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สพร. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หน่วยงานภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อกำกับดูแลการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แนวใหม่ ที่เน้นการพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ และสร้างสรรค์ภูมิปัญญา มีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการดำเนินการดูแลจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้มีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ ยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ และการบริหารพิพิธภัณฑ์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.สบร. และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติกล่าวว่า สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์และพันธกิจดังกล่าว สถาบันฯ จะดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งต่อไป เพื่อให้เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ (Museum Complex) โดยนำเอาอาคารเก่า หรืออาคารประวัติศาสตร์ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน พื้นที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มาปรับใช้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๒ โดยได้แนวคิดจากสมิธโซเนียน (Smithsonian) กลุ่มพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ พื้นที่รัตนโกสินทร์จึงเหมาะแก่การปรับใช้เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ ต่อยอดความรู้ และความคิดเชิงลึกจากประสบการณ์ชมนิทรรศการแนวใหม่ที่เน้นปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชม “เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นจุดศูนย์รวมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ ร่มเย็น และภูมิทัศน์สวยงาม ประชาชนจะได้รับความรู้จากพิพิธภัณฑ์และความรู้เกี่ยวกับอาคารแต่ละหลังด้วย ตัวอย่างเช่น มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จะมีห้อง “ตึกเก่าเล่าเรื่อง” เล่าถึงประวัติ ความเป็นมาของอาคารกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ดังนั้นการใช้อาคารบนเกาะรัตนโกสินทร์เป็นพิพิธภัณฑ์ ประชาชนจะได้เรียนรู้ประวัติอาคารนั้นๆ ไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการบันทึก สิ่งเหล่านี้ก็จะเลือนหายไป” พลเรือเอกฐนิธ กล่าว นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของรากฐานทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยและประเทศไทย รัฐบาลนำโดยท่านนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นถึงความสำคัญถึงการสนับสนุนและเชื่อมโยงกับเครือข่าย ซึ่งมีอยู่แล้วในชุมชน เครือข่ายพื้นที่ที่เป็นภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการที่จะผลักดันการพัฒนารูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ มิวเซียมสยาม ถือว่าเป็นต้นแบบในการที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เชื่อมโยงข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเผยแพร่ ประยุกต์ใช้กับสถานที่ ซึ่งถือเป็นโบราณสถาน เป็นอาคารเก่า เช่น อาจจะเคยเป็นที่ตั้งของส่วนราชการเก่าในพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ มีชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ มีโบราณสถาน ซึ่งรวมถึงพระบรมมหาราชวัง มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก รวมถึงอาคารประวัติศาสตร์ที่เป็นที่ตั้งของส่วนราชการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการที่เราได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสถานที่ หรือส่วนราชการนั้นๆ แล้วสามารถนำมาผลักดันเป็นสถานที่ในการทำแหล่งเรียนรู้ในทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ก็เป็นสิ่งที่อย่างน้อยในช่วงที่ผ่านมา คนไทย หรือแม้แต่ชาวต่างชาติต่างก็ชื่นชมมิวเซียมสยามหรือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๑ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนารูปแบบของการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ “การจัดการประชุมระดมแนวความคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๒ จะช่วยในเรื่องของการนำประสบการณ์ หรือบทเรียนจากการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๑ มาใช้ในการผลักดันให้เกิดความหลากหลาย และเกิดความเชื่อมโยง ทั้งกับภูมิปัญญาไทย หรือแม้แต่วัฒนธรรม ประเพณี ในเชิงประวัติศาสตร์ที่มีอยู่แล้วในเครือข่ายต่างๆ ทั้งในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่พื้นที่ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ที่อยู่แล้วในจังหวัดต่างๆทั่วทั้งประเทศไทย ก็เป็นอีกประเด็นที่อยากฝากไว้ให้ช่วยกันระดมความคิดเห็นกัน” นายอภิรักษ์ กล่าว ในส่วนสุดท้าย รัฐบาลมีแนวทางในทางยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า ระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทางรัฐบาลมีการศึกษาและร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์การสหประชาชาติ และองค์การค้าโลก (UNTAD) มีการผลักดันแนวคิดในการนำมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ มีการสั่งสมทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณี ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่นำมาใช้ในการต่อยอดให้เกิดระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้ ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ มีวิถีชีวิต ที่ประเทศไทยหรือสังคมไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อน ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก — ประไพ วิริยะพันธุ์ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” การที่ท้องถิ่นมีการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ๆ มีกระบวนการ เรียนรู้ การปรับตัวเข้าหากัน สร้างระบบเศรษฐกิจ การทำมาหากิน มีกติกาการอยู่ร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ซึ่งแก่นของวัฒนธรรม ก็คือ “ภูมิปัญญา” เพราะเกิดและสร้างขึ้นโดยคนในท้องถิ่น จากการสังเกต การทดลอง และการถ่ายทอดกันมา ภูมิปัญญา ไม่ใช่เรื่องของความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ Dynamic มีความเคลื่อนไหว สืบทอดโดยคนต่อคนในท้องถิ่น คนนอกต้องเรียนรู้จากคนใน การจะมองถึงภูมิปัญญาต้องแบ่งออกเป็นถิ่นๆ ไม่ใช่แค่ชุมชน ถิ่นมีระบบในตัว มีสิ่งที่เป็นสติปัญญา ที่เรียกกันว่า ภูมิปัญญา เพราะเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาช้านาน และถูกเลือกเฟ้นโดยคนรุ่นหลังๆนำมาใช้ประโยชน์ ภูมิปัญญาต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เกิดโดยคนที่อยู่ร่วมกัน เกิดสำนึกร่วมกัน ซึ่งแต่ก่อน กรุงเทพฯแบ่งเป็นย่านๆ อาทิ บางลำพู บางขุนพรหม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป กรุงเทพฯไม่มีย่าน ไม่มีภูมิปัญญา เราต้องอาศัยภูมิปัญญาของชาวต่างชาติ นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนัก เราต้องเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้จากบ้านเมือง ออกไปรู้จักเพื่อนบ้าน รู้จักโลก กระตุ้นให้มีพลัง ต่อรองกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต้องเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ความคิดเหล่านี้ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่า สิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ คือเรื่องของประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะ เกาะรัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ทับซ้อนกันอยู่อย่างยาวนาน เช่นเดียวกับพื้นที่กรมที่ดินในปัจจุบันนี้ เดิมเคยเป็นพื้นที่บริเวณป้อมวิไชเยนทร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งคาดว่ามีพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างมาก ( เปรียบจากพื้นที่ป้อมในสมัยรัชกาลที่ ๔ ) ต่อมาเมื่อรื้อป้อมวิไชเยนทร์ ออกแล้วนั้น ก็ได้มีการปลูกสร้างเป็นวังถึง ๒ วัง ซึ่งยังมีหลักฐานทางโบราณคดียังคงถูกฝังไว้อยู่ ดังนั้นการทำพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ น่าจะมีการขุดค้นเพื่อให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ ต่อจากนั้นก็ได้มีการสร้างกระทรวงเกษตราธิการแทนบนพื้นที่นั้น และกรมที่ดินก่อนที่จะมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยนั้นก็เคยอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการมาก่อน นี่คือพัฒนาการของที่ตั้ง ที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ในเรื่องของอาคารนั้นถือเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ เนื่องจากบางตึกมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากนี้นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๒ ในเรื่องของพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และเนื้อหาที่เหมาะสมในการนำมาจัดทำนิทรรศการ โดยมีความเห็นหลากหลาย “พื้นที่กรมที่ดิน” อยู่ในระหว่างการดำเนินการของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อเจรจาขอพื้นที่ของกรมที่ดินมาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งที่ ๒ เนื่องจากมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสม สะดวกในการเดินทางจากมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๑ ไปยังพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๒ และตรงกับแผนการเดิมของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ สำหรับเนื้อหาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๒ ตามแผนการเดิมจะเป็นเรื่องของชาติพันธุ์และภูมิปัญญา โดยผู้เข้าร่วมเสวนาได้นำเสนอเนื้อหาเพิ่มเติมที่น่าจะเหมาะสมในการพิพิธภัณฑ์ อาทิ การจัดทำพิพิธภัณฑ์บางกอก เพื่อนำเสนอชาติพันธุ์และภูมิปัญญาของคนกรุงเทพฯ ประวัติ ความเป็นมา การกำเนิดและพัฒนาการของเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี และชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยบริเวณนี้ ซึ่งจะต่อยอดจากมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งที่ ๑ และมีความสอดคล้องกับการที่ กทม. ได้เตรียมผลักดันพื้นที่นี้ให้เป็นมรดกโลก กรุงเทพฯจะมีพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของพื้นที่บริเวณนี้ นอกจากนี้ยังได้นำเสนอให้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ เข้าสนับสนุน ดูแล และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้ได้มาตรฐาน อันจะนำมาซึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป ทิศทางการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น คอยติดตามกันต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2667-0174-6 GC

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ