ชาวใต้ใช้พลังงานกระฉูด เร่งสร้างเครือข่ายชุมชน หนุนพัฒนาพลังงานทดแทน

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2009 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--สสส. นักวิชาการ สสส. ระบุแนวโน้มการใช้พลังงานในภาคใต้เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง คาดอีก 12 ปีข้างหน้าคนใต้ใช้ไฟฟ้าทะลุ 4 พันเมกกะวัตต์ แนะชุมชนควรสร้างแหล่งพลังงาน ขณะที่กระทรวงพลังงานขานรับ หนุนสร้างเครือข่าย พร้อมพัฒนาศักยภาพชุมชน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพในชุมชน สนับสนุนโดยแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ ประมาณ 2,000 เมกกะวัตต์ โดยไฟฟ้าในภาคใต้ ปัจจุบันหลักๆมาจากโครงการโรงพลังความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติจะนะ 800 เมกกะวัตต์ พลังความร้อนร่วมจากก๊าซธรรมชาติขนอม 800 เมกกะวัตต์ พลังความร้อนจากถ่านหิน ประทิว 2,800 เมกกะวัตต์ และคาดว่าในปี พ.ศ. 2564 ความต้องการใช้อยู่ที่ประมาณ 4,000 เมกกะวัตต์ ดร.เดชรัต กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่ภาคใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการพึ่งตนเองด้วยพลังงานทดแทนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องตื่นตัวตั้งแต่วันนี้ เช่นการให้ความเข้าใจพลังงานหมุนเวียน อาทิ การใช้ก๊าซหุงต้ม ด้วยก๊าซชีวภาพ ที่แปรสภาพจากน้ำเสีย และขยะอินทรีย์ หรือการทดแทนเตาประสิทธิภาพต่ำด้วยเตาประสิทธิภาพสูง ทดแทนน้ำมันดีเซล ด้วยไบโอดีเซลให้ได้ หรือการทดแทนไฟฟ้าจากซากดึกดำบรรพ์ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนกังหันลมและพลังน้ำ ขนาดเล็ก เป็นต้น ดังนั้นหัวใจสำคัญที่จะนำภาคใต้ไปสู้การสร้างแหล่งพลังงานชุมชนได้ จะต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างลึกซึ้งและทั่วถึงเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้ยังไม่แพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด “การทำความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่นชี้ให้เห็นว่าก๊าซชีวภาพ ไม่ได้มาจากแหล่งผลิตที่เป็นมูลสุกรเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาได้จากชีวะมวลที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเลี้ยงแพะจำนวนมา ก็สามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลแพะได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีให้กับชุมชนจะช่วยให้สามารถต่อยอดการพัฒนาพลังงานชุมชนได้เป็นอย่างดี”ดร.เดชรัต ระบุ ส่วน รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร นักวิชาการสถานวิชาการไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การสร้างพลังงานชุมชนอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นจากการพึ่งตนเองก่อน โดยเฉพาะศึกษากระบวนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพทางสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งชุมชนต้องรู้ว่ามีดีในด้านไหน แล้วนำจุดแข็งมาต่อยอด เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างพลังงานในชุมชน ส่วนการสร้างเครือข่าย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ในระดับชุมชน และท้องถิ่นขนาดเล็ก สามารถดำเนินการได้ง่าย เริ่มต้นด้วยการพูดคุย ขยายแนวคิด กระจายอุดมการณ์ให้ขยายตัวออกเป็นวงกว้างให้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการบอกต่อโครงการที่สัมฤทธิ์ผลในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และศึกษาหรือใช้เป็นต้นแบบแก่พื้นที่อื่น “การสร้างเครือข่ายในลักษณะขยายความคิดให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันได้มากเท่าไรจะยิ่งเป็นผลดีในแง่จิตวิทยาและขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องของพลังงานทดแทนว่าแม้จะไม่เห็นผลเด่นชัดในวันนี้แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในวันหน้า” รศ.ดร.ชาคริต กล่าว ด้านนายสมชัย ถาวรวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ สำนักงานพลังงานเขต 12 กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่กระทรวงพลังงาน คาดหวังมากที่สุดนั้น คือการเกิดขึ้นของชุมชน สามารถสร้างหรือผลิตแหล่งพลังงาน เพื่อใช้ได้เองในชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้เข้าไปสร้างศักยภาพชุมชน เริ่มจากสำรวจ ก่อนนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการแปรสภาพวัตถุดิบที่มีอยู่ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนและกระบวนการพัฒนา นอกจากนี้กระบวนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากนี้ไปจะเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมนอกเหนือการมุ่งเน้นสนับสนุนเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการขยายเครือข่ายไปยังสถานศึกษาเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานงานในชุมชนด้วย “ทุกชุมชนไม่ควรรีรอ เพื่อรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล อะไรที่เริ่มต้นได้ก่อนควรดำเนินการทันที เช่น การไปศึกษาดูชุนชนต้นแบบ หรือชุมชนข้างเคียงที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อใช้ในชุมชนตัวเอง” นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ