ปภ. แนะเตรียมสภาพรถให้พร้อมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Friday July 10, 2009 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ปภ. นอกจากช่วงเทศกาลสำคัญจะเป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงแล้ว ฤดูฝนก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าช่วงปกติ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี และสภาพถนนเปียกลื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงฤดูฝน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ขอแนะนำการเตรียมสภาพรถให้พร้อมสำหรับการขับขี่ในช่วงฤดูฝน รวมถึงลักษณะการเกิดอุบัติเหตุทางถนนขณะฝนตกพร้อมวิธีแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังนี้ ที่ปัดน้ำฝนก้านปัดน้ำฝนที่ดีต้องมียางรีดน้ำที่สมบูรณ์และก้านปัดต้องมีแรงกดกระจก เพื่อที่จะกวาดน้ำฝนได้สะอาด ไม่เป็นเส้นหรือมัว หากปัดแล้วเป็นเส้นหรือรอบฝ้าบนผิวกระจก มีเสียงขูดกับกระจก แสดงว่า ก้านปัดน้ำฝนเสื่อมคุณภาพ ควรเปลี่ยนใหม่ทันที อุปกรณ์ฉีดน้ำหมั่นเติมน้ำในกระปุกฉีดน้ำอยู่เสมอ หากท่อฉีดน้ำอุดตัน ให้ใช้ไม้เขี่ยทำความสะอาด ส่วนน้ำที่ใช้ฉีดควรใส่น้ำยาเช็ดกระจกหรือยาสระผม จะช่วยทำความสะอาดคราบสกปรกได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งปรับทิศทางของหัวฉีดน้ำ ให้น้ำพุ่งตรงไปยังกระจกหน้ารถ ยางควรอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ดอกยางละเอียดไม่โล้น และมีดอกยางไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร โดยควรเติมลมยางให้มากกว่าปกติสัก 2-3 ปอนด์ เพื่อให้สามารถรีดน้ำได้ดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน เพราะถ้ายางอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ อาจทำให้รถลื่นและพลิกคว่ำได้ ระบบเบรกควรอยู่ในสภาพดี ในขณะเบรกไม่มีเสียงคล้ายเหล็กถูกัน หากเบรกแล้วรถมีอาการปัดหรือลื่นไถล ควรจัดการเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ในทันที ซึ่งการขับขี่ช่วงหน้าฝนผ้าเบรกมักชื้น ทำให้เบรกไม่อยู่ ให้แก้ไขด้วยการเหยียบย้ำแป้นเบรกหลายๆครั้ง จนรู้สึกว่าแป้นเบรกเริ่มหนักขึ้น จะช่วยให้เบรกกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น ระบบสัญญาณไฟควรตรวจสอบสัญญาณไฟทุกดวงให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นไฟเลี้ยว ไฟหน้า ไฟฉุกเฉิน ไฟเบรก ไฟตัดหมอก และไฟสัญญาณถอยหลัง นอกจากการตรวจสอบสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานแล้ว ผู้ขับรถควรจัดเตรียมเครื่องมือ เช่น ยางสำรอง แม่แรงสำหรับขึ้นรถ ตัวถอดล้อ หัวกุญแจเบอร์ต่างๆ เชือกสลิงลากรถ ไฟฉาย สายพ่วงแบตเตอรี่ น้ำมันเบรกสำรอง แกลลอนน้ำมัน ติดรถไว้ด้วย เพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ลักษณะอุบัติเหตุทางถนนที่มักเกิดในช่วงฤดูฝน มีดังนี้ การชนท้ายหรือเฉี่ยวชนมักเกิดจากการลื่นไถล ประกอบกับทัศนวิสัยไม่ดี ทำให้เห็นท้ายรถคันหน้าหรือสิ่งกีดขวางในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถหยุดรถไม่ จึงควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าการขับขี่ในช่วงปกติ 2 เท่า โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนเพิ่งตกหรือฝนหยุดตกใหม่ๆ พื้นถนนจะเป็นโคลน จึงเปียกลื่น ประกอบกับทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี ผู้ขับขี่ควรเปิดไฟส่องสว่างทุกดวง แต่ไม่ควรเปิดไฟสูง เพราะแสงไฟจะสะท้อนกับพื้นถนน ทำให้ผู้ขับรถคันหน้าหรือขับสวนมา มองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน และหากมีไฟตัดหมอกให้เปิดด้วย กรณีทัศนวิสัยแย่มากจนมองไม่เห็นเส้นทาง ควรแวะจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถข้างทาง และรอจนกว่าทัศนวิสัยดีขึ้นหรือฝนหยุดตก ค่อยขับรถต่อไป การหลุดหรือแหกโค้งโดยทั่วไป การขับขี่ทางโค้งมักเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถบนทางโค้งที่สภาพถนนเปียกลื่น ทำให้รถแหกโค้งได้ง่ายขึ้น ควรลดความเร็วลงในขณะเข้าโค้ง ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน ห้ามปลดเกียร์ว่างหรือเหยียบคลัชต์ระหว่างเข้าโค้ง เพราะจะทำให้เกิดแรงเหวี่ยง ทำให้รถหลุดหรือแหกโค้งได้ รถลื่นหรือตกคูข้างถนนสามารถป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ คือ เมื่อฝนตกถนนลื่นให้ลดความเร็วลง และไม่ขับรถชิดขอบถนนมากเกินไป ในขณะที่รถลื่นไถลให้แตะเบรกเบาๆ อย่าเหยียบคลัตช์เป็นอันขาด ประคองพวงมาลัยให้มั่นคง อย่าฝืนหรือหักพวงมาลัยแบบกะทันหัน รอจนเมื่อรถจอดสนิทให้รีบออกจากรถ รถพลิกคว่ำสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงที่ฝนตก ถนนเปียกลื่นและผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูง จึงไม่ควรขับรถด้วยความเร็วในขณะถนนเปียกลื่น เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ช่วงฤดูฝน นอกจากผู้ขับขี่ต้องตรวจสอบสภาพรถยนต์และอุปกรณ์ประจำรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และจัดเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ใช้ในยามฉุกเฉินแล้ว ยังต้องเรียนรู้ลักษณะอุบัติเหตุทางถนนที่มักเกิดในช่วงฝนตก รวมถึงวิธีแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขณะขับรถ อีกทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ให้มากกว่าช่วงปกติด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงฤดูฝน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ