34 สถาบันมุ่งฝันเข้าชิงรางวัลโล่พระราชทาน “เอแบค” ดึงนักธุรกิจชั้นนำตัดสิน พร้อมประกาศผลรางวัล “U-ED # 4”

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2009 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--แอกเซส แอนด์ แอสโซซิเอทส์ “เอแบค” จัดงานนำเสนอ ประกาศผลและมอบรางวัล การจัดแข่งขันโครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ครั้งที่ 4 วันที่ 11 — 13 กรกฎาคม 2552 มีสถาบันการศึกษาชั้นนำในเมืองไทยเข้าร่วมชิงชัยรวม 34 แห่งทั่วประเทศ พร้อมยืนยันเตรียมจัดต่อเป็นครั้งที่ 5 เน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยให้สถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาคได้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ มีการติดต่อถ่ายเทองค์ความรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเข้มแข็งในภูมิภาคนั้นๆ และสามารถสร้างความหลากหลายของธุรกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละสถาบัน โครงการแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา เป็นพัฒนาการของกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจัดขึ้นมากว่า 30 ปี ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่นำรูปแบบดังกล่าวมาดำเนินการให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยนักศึกษาจะรู้จักกันดีในชื่อของ “เอแบคดัมมี่” และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พยายามที่จะขยายแนวความคิดนี้สู่วงกว้างไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะการพัฒนาสังคมธุรกิจในเมืองไทยให้แข็งแกร่ง รองรับกับสังคมธุรกิจระดับโลกที่กำลังก้าวเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยเป็นอย่างมาก การแข่งขันธุรกิจจำลองในสถาบันอุดมศึกษา ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABACA) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และพัฒนาความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการประสบความสำเร็จจากการจัดงานใน 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งบรรยากาศของการจัดการแข่งขันเต็มไปด้วยความอบอุ่น ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ที่ต่างให้ความสนใจในการเข้าร่วมและแนะนำโครงการบริษัทจำลองของตัวเอง อีกทั้งยังได้แลกประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สำหรับการจัดการแข่งขันในครั้งที่ 4 นี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดนักธุรกิจที่ปรึกษาเดินสายทำการฝึกอบรมให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ การวางแผน การเลือกธุรกิจในลักษณะซื้อมาขายไปหรือธุรกิจบริการ กลยุทธ์การจัดการและการตลาด การหาช่องทางการตลาด การจัดหาสินค้าและวัตถุดิบ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากนั้นก็จะเริ่มจัดองค์กร แบ่งสายงาน ตั้งแต่การบริหารงานบุคคล การรับสมัครพนักงานขาย การวางรูปแบบระบบบัญชีและการเงิน การกำหนดและปรับเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะทำให้เข้าใจระบบและภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในภาคเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยพายัพ ภาคใต้จัดที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภาคกลางจัดที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ “จุดเด่นของการดำเนินธุรกิจจำลองในปีนี้ จะเห็นได้ว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้จัดตั้งธุรกิจที่มีความหลากหลาย เช่น ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการด้านการจัดพิธีกรรมทางศาสนา ธุรกิจพาณิชย์อิเลคทรอนิค ธุรกิจด้านการเกษตร มีการนำสินค้าชุมชนหรือสินค้าท้องถิ่น สินค้ารณรงค์ลดโลกร้อน สินค้าประหยัดพลังงาน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ รวมทั้งให้ความสำคัญในการทำประโยชน์ให้กับสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย” นอกจากนี้แต่ละสถาบันยังได้มีเครือข่ายในภูมิภาคของตน ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันและการเชื่อมโยงธุรกิจให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับในปีนี้คณะกรรมการตัดสินเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าในองค์กรชั้นนำ เกณฑ์การตัดสินและให้คะแนนนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ คือ การวางแผนและผลการดำเนินงาน 50% การประชาสัมพันธ์ 10% นวัตกรรม 15% การทำประโยชน์ให้แก่สังคม 15% การรายงานและการนำเสนอ 10% โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละสถาบัน ในวันที่ 11 — 12 กรกฎาคม 2552 เวลา 9.00 น. ณ Auditorium Hall มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตหัวหมาก การนำเสนอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถาบันที่จัดตั้งธุรกิจจำลอง 1 — 5 ปี และสถาบันที่จัดตั้งธุรกิจจำลอง 5 ปี ขึ้นไป ในวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2552 เวลา 13.30 น. เป็นการประกาศผลรางวัล โดยมี ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา คุณสุทธิศักดิ์ เลาหชีวิน รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภราดา ดร.บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คุณอุดม หงส์ชาติกุล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คุณแดน ฮาร์โซโนประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) คุณปิยะฉัตร ฉันทไกรวัฒน์ Client Manager บริษัทเอ็กซอนโมบิล จำกัด คุณกฤตินัย ผลาชีวะ Deputy Director Network Channel Management บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และดร. เชียง ไกว แฟท ชาร์ลส ประธานกรรมการ บริษัท ไซเบอร์ดิค เทคโนโลยี จำกัด ผู้สนับสนุนโครงการฯ ให้เกียรติร่วมงาน และจากผลของการจัดการแข่งขันกับโครงการดังกล่าว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมการที่จะจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 5 โดยในครั้งหน้านี้จะมุ้งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยให้สถาบันการศึกษาในแต่ละภูมิภาคได้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ มีการติดต่อถ่ายเทองค์ความรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความเข้มแข็งในภูมิภาคนั้นๆ และสามารถสร้างความหลากหลายของธุรกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละสถาบัน ซึ่งคาดว่าจะมีสถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 50 สถาบัน รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : ดร.จิราภา ศรีกาฬสินธุ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทรศัพท์ 0-2723-2131-2

แท็ก นักธุรกิจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ