กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
กทม. เตรียมนำรถ shuttle bus ป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน มุ่งเพิ่มผู้โดยสาร BTS ส่วนต่อขยายให้ได้ 60,000 คนต่อวัน พร้อมเดินหน้าเปิดให้บริการ BTS จากหมอชิตไปศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และ BRT สายราชพฤกษ์ — ช่องนนทรีย์ ทันกำหนด นอกจากนี้เตรียมเพิ่มประสิทธิภาพโรงฆ่าสัตว์เป็นศูนย์ต้นแบบการเรียนด้านการผลิต พร้อมทั้งหาแนวทางกำจัดขยะมีพิษและขยะทั่วไปด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ และ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ณ อาคารต้นสนทาวเวอร์ ถ.ลุมพินี เขตปทุมวัน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จะต้องร่วมมือกันดำเนินงานไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้า BTS รถด่วน BRT ยังรวมถึงด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งจากการหารือแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกัน พบว่าหลังจากทดลองเปิดให้บริการรถไฟฟ้า BRT ส่วนต่อขยายสายสีลม — วงเวียนใหญ่ 2.2 กิโลเมตร วันปกติมีผู้โดยสาร 46,000 คนต่อวัน วันหยุด 27,000 ต่อวัน และจากการคำนวณความคุ้มค่าในการเดินรถจะต้องมีผู้โดยสาร 60,000 คนต่อวันถึงจะคุ้มทุน ส่วนการให้บริการรถ BRT สายราชพฤกษ์ — ช่องนนทรีย์จะได้เร่งดำเนินการให้เปิดบริการได้ภายในวันที่ 15 พ.ค. 53 รวมถึงรถไฟฟ้า BTS จากหมอชิตไปศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ให้สามารถเปิดบริการได้ภายในวันที่ 15 พ.ค. 54 โดยจะมีการให้บริการรถ shuttle bus ช่วยป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก BTS และ BRT ต่อไป ขณะนี้บริษัท กรุงเทพธนาคม ได้เสนอเส้นทางการเดินรถ shuttle bus 4 เส้นทางหลักในฝั่งธนบุรี ซึ่งกรุงเทพมหานครจะได้พิจารณาความเหมาะสมว่าจะเก็บค่าบริการหรือให้บริการฟรี อาจใช้วิธีเช่ารถมาวิ่งก่อนจะหารถมาวิ่งเอง โดยไม่ต้องรอผลสรุปของ DSI เกี่ยวกับคดีรถด่วน BRT ที่ค้างอยู่ และเมื่อคดีสิ้นสุดค่อยนำรถ BRT ที่ค้างคดีมาวิ่งในเส้นทางอื่นได้
สำหรับโรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานครที่ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ ทางบริษัท กรุงเทพธนาคม ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะใช้ให้เป็นประโยชน์เพิ่มเติม โดยนอกจากจะใช้เป็นโรงฆ่าสัตว์ตามปกติแล้วยังใช้เป็นศูนย์ต้นแบบการเรียนรู้ในการผลิตของกรุงเทพมหานคร เช่น การฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อสัตว์ แปรสภาพเนื้อสัตว์เป็นอาหารสำเร็จรูป หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารให้เด็กนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะส่งนิสิต นักศึกษา และนักวิชาการ มาเรียนรู้ ตรวจสอบ รับรองคุณภาพอาหาร ส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะฆ่าและแปรสภาพหมูได้ประมาณ 2,000 ตัวต่อวัน
นอกจากนี้ได้หารือถึงแนวทางการกำจัดขยะมีพิษซึ่งในกรุงเทพมหานครมีปริมาณวันละ 20 ตัน เนื่องจากเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีอยู่เก่า และล้าสมัย โดยหลายประเทศได้เปลี่ยนจากการใช้ระบบเตาเผาเป็นระบบไอน้ำหรือความร้อนด้วยลมแทน ส่วนขยะทั่วไป บริษัท กรุงเทพธนาคม ได้เสนอให้มีการจัดสร้างเตาเผาขยะที่สามารถเผาขยะได้วันละ 1,500 ตัน ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 4,500 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 16 ปี ระยะเวลาใช้งาน 300 วันต่อปี และสามารถคืนทุนได้ภายใน 10 ปี เนื่องจากเมื่อเปิดดำเนินการจะมีรายได้จากค่าจัดการขยะหรือค่าเก็บขนขยะตันละ 500 บาท รวมถึงสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองได้สำหรับเตาเผาขยะ และมีพลังงานเหลือสามารถจำหน่ายได้ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะนำแนวทางที่ได้ไปหารือและพิจารณาอีกครั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด