กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--โฟร์ฮันเดรท
จากสภาพการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทั้งภายใน และนอกประเทศ ทั้งภาวะโรคไข้หวัด 2009 ที่กำลังระบาดหนักในช่วงนี้ ทำให้ธุรกิจ “เอสเอ็มอี” ทยอยล้มหายตายสนิทออกไปทุกวัน รวมเกิน 4 ล้านรายปลายปีก่อน กูรูการตลาด “จรรย์จารี ธรรมา” ผู้นำการตลาดแบรนด์ระดับโลกกว่า 20 ปีบวกประสบการณ์จริงกับเอสเอ็มอีในช่วง 3 ปีหลังแนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านราย ว่ามีทางรุ่งพร้องฟันฝ่าเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของโค้งสุดท้ายปี ’52 ด้วยการเข้าถึงหลักการสร้างแบรนด์ที่ถูกต้องประยุกต์จากแบรนด์ระดับโลกด้วย 5 กลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างแบรนด์เอสเอ็มอี
จรรย์จารี ธรรมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฌี (ไทยแลนด์) จำกัด (Simple, Honest, Expert : SHE) บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดแบบครบวงจร และกรรมการบริหาร สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปี 2552 ที่ผ่านมา ธุรกิจ เอสเอ็มอี คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 1.4 จาก การชะลอตัวของการส่งออกในประเทศ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และเรื่องปัญหาไข้หวัด 2009 ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของ SMEs ไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี และคาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จาก ผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ประกอบกับมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายในประเทศของรัฐบาล ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ชะลอลงในปี 2551 มีแนวโน้มจะกลับมาดีขึ้น เศรษฐกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 จาก สภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของ SMEs การบริโภคและการลงทุนจาก ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะเป็นปัจจัยเสริมต่อธุรกิจของ SMEs ประกอบการสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ ชะลอตัวในปี 2552 จะกลับมาดีขึ้น
ในปี 2550 จำนวนวิสาหกิจในประเทศมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,375,368 ราย โดยจัดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 2,366,227 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 99.6 ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งนี้ สามารถแบ่ง SMEs ตามประเภทธุรกิจได้ดังนี้คือ SMEs ที่อยู่ภาคการค้าและซ่อมบำรุง จำนวน 973,248 ราย หรือร้อยละ 41.1จำนวนรองลงมาได้แก่ SMEs ที่อยู่ในภาคการบริการ 708,841 ราย หรือร้อยละ 30.0 และที่อยู่ในภาคการผลิตรวม จำนวน 668,185 ราย หรือร้อยละ 28.2 ของจำนวน SMEs ทั้งหมด และจากสำรวจข้อมูลของ สสว. พบว่าในปี 2551 ผู้ประกอบการที่มาจัดตั้งเพิ่มขึ้น 42,746 รายและยกเลิกกิจการ 27,206 ราย ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, มกราคม 52
จรรย์จารี กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี ก็เหมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ชั้นนำ มีสำเร็จ มีล้มลุกคลุกคลานปนกันไปแล้วแต่ชนิดแล้วแต่ปัญหา แต่มีหลักการพัฒนาธุรกิจ เอสเอ็มอี ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายขนมขบเคี้ยว ขายปลาร้าผงปรุงสำเร็จ ขายเฟอร์นิเจอร์ ขายการ์ดปีใหม่ ขายของกุ๊กกิ๊กแต่งบ้าน ฯลฯ นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และการควบคุมต้นทุนแล้ว จรรย์จารี ได้ศึกษาเปรียบเทียบและมั่นใจว่าเพื่อการเติบโตที่มั่นคงของเอสเอ็มอีไทยทั้งหมด จำเป็นต้องใช้การตลาดเป็นเรือธงนำทางในปี 2552 และ 2553 ที่จะถึงนี้
ด้วยการยึดแนวทางกลยุทธ์การตลาด เพื่อสร้างแบรนด์เอสเอ็มอี 5 ข้อสำคัญ คือ
1. การสร้างจุดยืนหลักของสินค้า (Product Positioning): ซึ่งการวางจุดยืนของสินค้านี้ จะช่วยกำหนดตัวตนของสินค้า และการตลาดให้ชัดเจนโปร่งใส ทั้งกับตัวเจ้าของแบรนด์เอสเอ็มอีเอง และให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าคุณคือใคร จะขายอะไรให้กับลูกค้า
2. การสร้างการรับรู้ (Brand Awareness Building): ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องตะโกนให้ดังที่สุด ให้ไปถึงหูกลุ่มเป้าหมาย ทั้งสื่อโฆษณาทางด้านโทรทัศน์ หรือวิทยุ ที่ต้องใช้ต้นทุนสูง หรือ การใช้กลยุทธ์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไม่แพงมาก เช่นสื่ออินเตอร์เน็ต การทำประชาสัมพันธ์แอบแฝงไปในเนื้อข่าว หรือการเจาะเลือกใช้สื่อผ่านคนบางกลุ่มที่คนอื่นไม่เคยใช้ ฯลฯ
3. การสร้างการทดลอง (Trial): ใช้สินค้าในกลุ่มเป้าหมาย (Target Consumer) และกระตุ้นให้ลองใช้ต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายใช้การแจกผลิตภัณฑ์ฟรีอย่างเดียวซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจทำตามไม่ได้ จึงต้องคิดทำกิจกรรมทุกอย่างที่กระตุ้นให้เกิดการอยากลอง โดยลูกค้าต้องควักกระเป๋าน้อยที่สุด เพราะเขายังไม่เคยเชื่อมั่นในตัวสินค้าของเรา อย่างเช่น ทำขนาดของสินค้าให้เล็กลงมากๆ เพื่อให้ลองสัก 1 ครั้งในราคาน้อยๆ ก่อน
4. การนำสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคให้กว้างขวางตามร้านค้าที่เหมาะสมที่สุด (Product Distribution): มีหลายช่องทางด้วยกัน คือห้างสรรพสินค้า (Modern Trade) แต่ต้องเสียค่าแรกเข้า (Listing Fee) หรือการกระจายสินค้าในรูปแบบการขายตรง, การเข้าร้านโชว์ห่วย ทั้งนี้เราต้องทบทวนโอกาสทางการขายแต่งละผลิตภัณฑ์ และคู่แข่ง ถ้าคิดว่าช่องทางไหนคุ้มก็เลือกช่องทางนั้น
5. การศึกษาติดตามวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Analysis &Monitoring): การทำตลาดของธุรกิจเอสเอ็มอี หรือในธุรกิจอื่น ๆ เราต้องกลับมามองหลังบ่อย ๆ โดยเฉพาะแบรนด์เอสเอ็มอี ที่จะต้องใช้เงินต้องรอบคอบเสมอ ซึ่งการวิเคราะห์ธุรกิจในเบื้องต้น ให้ดูที่ยอดขายต่อขนาดต่าง ๆ กำไรต่อขนาดต่าง ๆ ยอดขายต่อร้านค้าแต่ละจุด แต่ละจังหวัด ความคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้อง เช่นจากลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ของเรา จากร้านค้าต่อผลิตภัณฑ์ ต่อหีบห่อที่บรรจุ หรือต่อการขนส่งของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ รวบรวมแล้วหาบทสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งยังควรเก็บข้อมูลเดิม ๆ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
จรรย์จารี กล่าวสรุปว่า “กลยุทธ์ 5 ข้อ” คือเคล็ดลับที่สำคัญที่สุดจะช่วย “อุดจุดบอด ถอดรหัสลับ” ให้การสร้างแบรนด์เอสเอ็มอีอย่างรวดเร็วและมั่นคงได้ผลจริง
หากรู้หลัก และต้องทำตามลำดับความสำคัญก่อนหลังจากข้อ 1 ไปข้อ 5 เท่านั้น และต้องทำอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” และ เพื่อเป็นการช่วยให้ปฏิบัติได้จริง จรรย์จารี จึงออกหนังสือการตลาดเชิงปฏิบัติเพื่อเอสเอ็มอี เล่มแรกของเมืองไทย แบบไร้ทฤษฎีให้ไปอ่านไปทำไป วางขาย 13 กรกฏาคม นี้ ทุกร้านหนังสือชั้นนำ โดยมีเพื่อนพ้องนักการตลาดชั้นนำ มาร่วมเปิดตัว เช่น ชลิต ลิมปนะเวช คณบดีนิเทศศาสตร์ เอแบค, กิตติ สิริพัลลภ หัวหน้าภาควิชาการตลาด ม ธรรมศาสตร์, วรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการบริหารยูนิลีเวอร์, ,มราลี คงศาลา ผอ โครงการระบบพี่เลี้ยงเอสเอ็มอีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ ณภัทร ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม เจ้าของและผู้จัดสื่อชั้นนำและรายการมากมายในเมืองไทย
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, มกราคม 52
นำเสนอข่าวโดยบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท โฟร์ฮันเดรท จำกัด
รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณสิทธิกร เสงี่ยมโปร่ง
โทร. 081-913-1291, 02-553-3161-3 Email : sitikorn@4h.co.th