กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สสวท.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดทำ“ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามแนวทาง สสวท.” ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2550 ตามโครงการเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีโรงเรียนอัครศาสน์วิทยา อ. ยี่งอ จ. นราธิวาส เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งแรกในโครงการ
หลังจากนั้นในปี 2551 บริษัทเซ็นทรัลพัฒนามหาชนจำกัด ภายใต้โครงการ “เพาะกล้าปัญญาไทย” ได้มอบงบประมาณร่วมสร้าง “ศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามแนวทาง สสวท.” พร้อมกับขยายผลสู่ภาคอื่น ๆ ในอนาคต โดยนำร่องที่จังหวัดขอนแก่นและชลบุรี
ล่าสุด สสวท. และบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กำลังจัดทำศูนย์การเรียนรู้ ฯ ที่ ร.ร. ประภัสสรวิทยา จ. ชลบุรี ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 นายราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. ได้นำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ไปให้เด็ก ๆ ที่นั่นได้ร่วมเรียนรู้กันอย่างหลากหลาย
นายราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. หนึ่งในทีมผู้ริเริ่มจัดทำศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบตามแนวทาง สสวท. กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างศูนย์การเรียนรู้ที่ ร.ร. ประภัสสรวิทยา จ. ชลบุรี กับศูนย์อื่นในภาคใต้ว่า ศูนย์อื่นมีการเรียนการสอนเฉพาะสายสามัญ แต่ศูนย์ จ.ชลบุรี มีทั้งสายอาชีวศึกษาและสายสามัญ ซึ่งพร้อมที่จะพัฒนาชุมชน ทั้งในส่วนที่เป็นทางด้านช่าง และสายสามัญได้ด้วย และทางโรงเรียนมีศักยภาพ ในการที่จะเชิญบุคลากรจากมหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนาชุมชนได้
“กลุ่มเป้าหมายที่จะมาเรียนรู้ที่ศูนย์ ฯ จ. ชลบุรี คือ เยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร เช่น ออกจากโรงเรียนช่วง ม. ต้น ม.ปลาย เราต้องการฝึกฝีมือรวมทั้งคุณภาพ ไปจนถึงพัฒนาวิชาชีพ เช่น ซ่อมเครื่องยนต์ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมและอัพเกรดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรโรงเรียนเจ้าของศูนย์ สมาชิกในชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สสวท. ” นายรามกล่าว
ทั้งนี้ การจัดทำศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบนั้น บริษัทเซ็นทรัลพัฒนาจำกัด ได้มอบทุนค่าจัดตั้งศูนย์ ๆ ละ 500,000 บาท ในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 5 ศูนย์ ส่วน สสวท. ทำหน้าที่จัดระบบ และรูปแบบของศูนย์ ฯ รวมทั้งจัดหาสื่อการเรียนการสอนตามหลักสูตรในรูปของ CD หนังสือ และอุปกรณ์การเรียนการสอน
สำหรับกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ สสวท. ได้นำไปจัดการเรียนรู้ที่ ร.ร. ประภัสสรวิทยา จ. ชลบุรี ในครั้งนี้ เช่น กิจกรรมหมุนไข่ เป็นการแยกไข่ดิบออกจากไข่ต้มสุกโดยการหมุน เพื่อพิสูจน์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ ความเฉื่อยของการหมุน เนื่องจากไข่ดิบมีไข่ขาวเป็นของเหลว จึงมีความเฉื่อยมากกว่าไข่สุก ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นหมุน จะหมุนยากกว่า และเมื่อหมุนแล้วจะหยุดก็ยากเช่นกัน
กิจกรรมปล่อยไข่ พิสูจน์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโมเมนตัมและการดล เมื่อปล่อยไข่จากที่สูง ขณะที่ไข่เคลื่อนที่มีความเร็ว จึงมีโมเมนตัม ถ้ากระทบพื้นจะมีการดลเท่ากัน เมื่อปล่อยไข่จากที่สูงเท่ากัน แต่แรงดลขึ้นอยู่กับพื้นที่รองรับด้วย ถ้าพื้นแข็ง แรงดลมาก เปลือกไข่ก็จะแตก แต่ถ้าใช้น้ำ ผ้า โฟม ฟองน้ำ รองรับ แรงดลจะน้อย ทำให้ไข่ไม่แตก
กิจกรรมเย็นยะเยือก พิสูจน์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับกฏของแกส ในการศึกษาแกสมีสมบัติ 3 ประการ คือ ความดัน ปริมาตร และอุณหภูมิ สำหรับแกสไนโตรเจนที่อยู่รอบตัวเราจะเดือดแล้วเปลี่ยนจากของเหลวเป็นเป็นแกสที่อุณภูมิ — 196 องศาเซลเซียส จึงใช้ไนโตรเหลวในการศึกษากฏของแกสได้อย่างตื่นตาตื่นใจ
กิจกรรมเจ็บเล็ก ๆ พิสูจน์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความดัน ผิวหนังมนุษย์จะเกิดความเจ็บปวดที่แรงดันค่าหนึ่ง ดังนั้นถ้าเฉลี่ยแรงดันให้ไม่เกินค่านี้ก็จะเหยียบเตียงตะปูได้
กิจกรรมสะกดบอล พิสูจน์หลักของแบร์นูลลี เมื่ออากาศเคลื่อนที่ ความดันจะน้อยกว่าความดันอากาศปกติ ทำให้เกิดโพรงอุ้มลูกบอลให้เคลื่อนที่ไปได้
ด.ญ.ณัฐกานต์ นพเสิรฐ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร.ร. ประภัสสรวิทยา บอกว่า ดีใจได้รับความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าเดิมเรื่องการทดลอง อยากเข้ามาใช้ศูนย์การเรียนรู้ ฯ เพราะได้ความรู้เพิ่มเติม
ด.ญ.ศิริพร จันทร์ปิติกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร.ร. ประภัสสรวิทยา เล่าว่า ได้ร่วมกิจกรรมนี้สนุกมาก ได้ร่วมการทดลองใหม่ๆ มากขึ้น เป็นโอกาสดีที่ สสวท.ได้มาตั้งศูนย์เรียนรู้ที่โรงเรียนของหนู ในศูนย์มีกิจกรรมมายหลายอย่างที่น่าเรียนรู้
อ. จินดา ประกอบธรรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและพัฒนาการศึกษา และเป็นครูวิทยาศาสตร์ มัธยมศึกษาปีที่ 1 ร.ร. ประภัสสรวิทยา กล่าวว่า ประทับใจวิทยากรจาก สสวท. ที่ถ่ายทอดความรู้ทักษะและเทคนิคต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กๆ เด็กได้มีโอกาสได้แสดงออกถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพราะมีสื่อที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก
“ศูนย์ที่ สสวท. ตั้งขึ้นมานี้น่าจะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเยาวชนในชุมชน หลังจากที่ศูนย์เสร็จเรียบร้อยและมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ ทางโรงเรียนจะเชิญชวนให้ชุมชนเข้ามาใช้บริการในศูนย์ได้ตลอดเวลา มีส่วนร่วมที่จะช่วยกันพัฒนาสื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน คุณครูที่เข้ามาใช้ศูนย์เรียนรู้จะได้ประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของตนเอง ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สำคัญได้นำแนวทางการจัดการเรียนรู้ของ สสวท. รวมทั้งสื่อต่างๆ ไปใช้กับนักเรียนไปพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์”
อ. วิไลวรรณ กว้างนอก ครูวิทยาศาสตร์ ร.ร. ประภัสสรวิทยา สอนชั้น ม.2 และ ม.3 กล่าวว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมกิจกรรมที่ สสวท. จัดขึ้น ทำให้เด็กๆ ตื่นเต้น เด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วม สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ กิจกรรมที่ประทับใจคือเอาลูกโป่งแช่ในถังที่ใส่ในโตรเจนเหลวเด็กๆ ดูแล้วตื่นเต้นเนื่องจากนักเรียนไม่เคยเห็นมาก่อน
“การที่ สสวท. ได้มาตั้งศูนย์เรียนรู้ที่โรงเรียนเป็นโอกาสที่ดีของโรงเรียนและเด็กๆ ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้จากสื่อต่างๆที่ ทาง สสวท. จัดมาให้จะทำให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น ได้รู้จักกิจกรรมใหม่ๆ หรือสื่อแปลกๆ มากขึ้น นอกเหนือจากที่เคยเรียนแล้วหรือที่มีอยู่ในโรงเรียน อยากให้จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมในการจัดการเรียนการสอนและอยากให้มีวิทยากรคอยแนะนำเด็กๆ จะได้สัมผัสสิ่งใหม่ๆ
มากขึ้น”