กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝึกซ้อมร่วมด้านการเผชิญสถานการณ์วิกฤต ประจำปี ๒๕๕๒ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กรฏาคม ๒๕๕๒ ณ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มอย่างรุนแรงทำให้สาธารณูปโภคเสียหายอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความชำนาญให้ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดเชียงราย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินโครงการฝึกซ้อมร่วมด้านการเผชิญสถานการณ์วิกฤต ประจำปี ๒๕๕๒ (Emergency Response Team : ERT-๐๙ ) ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ณ บ้านสันทรายกองงาม ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยจำลองสถานการณ์อุทกภัย และดินโคลนถล่มอย่างรุนแรง เนื่องจากพายุโซนร้อนบริเวณทะเลจีนใต้ได้ทวีความรุนแรงก่อตัวเป็นพายุไต้ฝุ่น ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบสื่อสาร เป็นต้น และเส้นทางคมนาคมไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านสันทรายกองงาม ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นบริเวณที่ลำน้ำกกมาบรรจบกับลำน้ำโขง มีผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายมากกว่า ๓๐ คน และบาดเจ็บมากกว่า ๒๐๐ คน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดรับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดได้ประกาศให้อำเภอเชียงแสนเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนระดมสรรพกำลังร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานตอบโต้เหตุฉุกเฉินในพื้นที่วิกฤต พร้อมจัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์วิกฤตและศูนย์อพยพ ณ จุดเกิดเหตุ และจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต(ERT) ด้านการสื่อสาร การแพทย์ฉุกเฉิน EMS การค้นหาและกู้ภัยจากทุกภาคส่วนเข้าปฏิบัติการค้นหา ช่วยเหลือ และอพยพเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงตรวจสอบติดตามผู้สูญหาย รับเรื่องราวร้องทุกข์ พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และการจัดการศพผู้เสียชีวิต ตลอดจนปฏิบัติการเปิดเส้นทางคมนาคมที่มีสิ่งก่อสร้างหักพังปิดกั้นเส้นทาง รื้อถอนซากปรักหักพัง และซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์
โดยภายหลังการฝึกซ้อมฯจะมีการสรุปสถานการณ์ และประเมินผล เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องและนำไปแก้ไขในการปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยพิบัติ ทั้งนี้ การฝึกซ้อมฯเผชิญสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้จะทำให้ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีความพร้อมในการเผชิญเหตุสาธารณภัยทุกประเภท ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานสนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-2432200 RR DDPM