กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--โอเค แมส
พระพุทธบาทสูงค่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฐานผลิตอุตสาหกรรม เกษตรนำล้ำแหล่งท่องเที่ยว หนึ่งเดียวกระหรี่ปั๊ปนมดี ประเพณีตักบาตรดอกไม้งาม เหลืองอร่ามทุ่งทานตะวัน ลือลั่นเมืองชุมทาง
คำขวัญจังหวัดสระบุรี จังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นเมืองที่รองรับผู้คนที่เดินทางผ่านเข้าออกไปจังหวัดต่างๆ เสมือนเป็นประตูบ้านที่ต้องเดินทางผ่านของผู้คนมากมายในแต่ละวัน
จังหวัดสระบุรี มีวัฒนธรรมประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ช่วงนี้ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งมีประเพณีถือปฏิบัติกันมาช้านาน วันนี้แพ็กกระเป๋าไปย่ำถิ่นเมืองสระบุรี ไหว้พระ ชมธรรมชาติ ริมแม่น้ำป่าสัก กันเลยดีกว่า
เมื่อเดินทางมาถึงสระบุรี สถานที่แรกคงต้องเข้าวัดสักการะพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกันก่อนที่ วัดศาลาแดง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พระพุทธรูปพระราชทานคู่เมืองสระบุรี เป็นพระพุทธรูปหนึ่งในสี่องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2511 พระราชทานแก่จังหวัดต่างๆ ทั้งสี่ทิศ ได้แก่ ทิศเหนือ ที่ จ.ลำปาง ทิศใต้ ที่ จ.พัทลุง ทิศตะวันตก ที่ จ.ราชบุรี และทิศตะวันออก ที่ จ.สระบุรี ประดิษฐานในวิหารจตุรทิศ ตั้งอยู่หน้าวัดเปิดให้ประชาชนผู้ศรัทธานมัสการทุกวัน พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีพุทธลักษณะที่งดงามองค์หนึ่งของไทย ได้เข้าไปนั่งกราบพระในโบสถ์จะรู้สึกถึงความสงบ เย็นสบายต่างจากอากาศข้างนอกอย่างสิ้นเชิง เมื่อออกมาบริเวณด้านนอกจะเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางมากราบสักการะ
เดินทางออกจากตัวเมืองจังหวัดประมาณ 28 กิโลเมตร เข้าอำเภอพระพุทธบาท เพื่อมุ่งหน้าไปชมความงดงามของวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก มีปูชนียสถานที่สำคัญคือ รอยพระพุทธบาท ที่ประทับไว้บนแผ่นดินเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพต หรือ เขาสัจจพันธคีรี ค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นรอยพระพุทธบาทตามลักษณะ 108 ประการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปชั่วคราวครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ส่วนทางขึ้นพระมณฑปเป็นบันไดนาคสามสายซึ่งหมายถึง บันไดเงิน บันไดทอง และบันไดแก้ว ที่ทอดลงจากสวรรค์หัวนาคที่เชิงบันไดหล่อด้วยทองสำริด เป็นนาค 5 เศียร บริเวณรอบพระมณฑปมีระฆังแขวนเรียงราย เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการได้ตีแผ่ส่วนกุศลแก่เพื่อนทั้งหลาย ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ล้วนสร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา และตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธบาท ( วิหารหลวง ) ซึ่งเป็นเก็บรวบรวมศิลปวัตถุอันมีค่า อาทิ เครื่องทรงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เครื่องลายครามสังคโลก เครื่องทองสำริดโบราณ ศาสตราวุธโบราณ รอยพระพุทธบาทจำลอง ยอดมณฑปพระพุทธบาทเก่าพัดยศของพระสมัยต่างๆ และท่อประปาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วิหารหลวงจะเปิดให้ชมเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ซึ่งปกติจัดให้มีปีละ 2 ครั้ง คือ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 จนถึง แรม 1 ค่ำ และขึ้น 8 ค่ำ เดือน 4 จนถึง แรม 1 ค่ำ อัตราค่าเข้าชม คนไทย ไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างประเทศ คนละ 30 บาท เปิดให้สักการะทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ความเชื่อและวิธีการบูชา ตามคติของคนโบราณกล่าวไว้ว่า หากได้มานมัสการรอยพระพุทธบาทนี้ครบถึง 7 ครั้ง จะได้ไปจุติในสรวงสวรรค์ แม้แต่ในชาติภพนี้ อานิสงส์ผลบุญจะส่งให้ชีวิตมีความสำเร็จสมหวังในทุกประการ
จากนั้นไม่ควรพลาดไปไหว้พระพุทธรูปทองคำ วัดพะเยาว์ อ.เสาไห้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำป่าสัก หมู่ 1 ตำบลศาลารีไทย เป็นพระพุทธรูปทองคำสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนอยู่บริเวณวัดร้างแห่งหนึ่งในอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาเป็นพระประธานที่สระบุรี ต่อมาปูนที่พอกองค์พระกะเทาะออก จึงพบว่าองค์พระเป็นทองคำทั้งองค์ ซึ่งพระพุทธรูปทองคำ ประติมากรรมอันยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก พระวรกายสมสัดส่วน สง่างาม ประทับนั่งในปางสมาธิแบบขัดสมาธิราบ ในลักษณะที่ดูองอาจแฝงไว้ด้วยลักษณะเข้มแข็ง ปัจจุบันได้มีผู้ศรัทธาพร้อมใจกันสร้างวิหารจัตุรมุขขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำองค์นี้ให้เป็นสง่าราศี และเป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่ชาวเมืองสระบุรี
ไหว้พระเพื่อสิริมงคลกันเรียบร้อยแล้ว เดินทางไปชมไร่ดอกเข้าพรรษา มีชื่อทางพฤษศาสตร์อยู่ในสกุลกลอบบา (Globba) ที่มาของ “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” หนึ่งเดียวของโลก ที่ไร่นิรากรณ์ บ้านพุคำจาน ของคุณลุงสละ นิรากรณ์ เจ้าของไร่ ซึ่งถือได้ว่าไร่ดอกเข้าพรรษาแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรที่มีแห่งเดียวในประเทศไทยและมีแห่งเดียวในโลก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกต้นดอกเข้าพรรษาในจังหวัดสระบุรีที่ใหญ่ที่สุด ลักษณะของดอกคล้ายกับต้นกระชายหรือขมิ้น มักขึ้นตามท้องที่ป่าเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ลำต้นขึ้นเป็นกอจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อส่วนยอดของลำต้นมีหลายสี เช่น ขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง สีน้ำเงินม่วง จะออกดอกสะพรั่งในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น เมื่อเก็บดอกมาแล้วนำมามัดรวมกับธูปเทียน เพื่อนำไปตักบาตรดอกไม้ ซึ่งเชื่อกันว่า ดอกไม้ที่นำมาตักบาตรแล้วจะได้กุศลมากกว่าชนิดอื่นๆ ก็คือ ดอกเข้าพรรษา
งานประเพณีตักบาตรดอกไม้ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ประมาณเดือนกรกฎาคม) โดยจะมีการทำบุญตักบาตรด้วยข้าวสุกที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร และตักบาตรดอกไม้ในตอนบ่ายวันเดียวกัน เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล พระภิกษุสงฆ์จะออกบิณฑบาต โดยมีขบวนแห่กลองยาว พร้อมด้วยนางรำรำหน้ากลองยาวอย่างครึกครื้น ถัดจากขบวนกลองยาวเป็นพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนรถแห่ ตามด้วยขบวนพระสงฆ์เดินมาเพื่อบิณฑบาตดอกไม้ไปเรื่อยๆ ไปจนถึงประตูพระมณฑปพระพุทธบาท ซึ่งในปีนี้จังหวัดสระบุรีได้กำหนดจัดงานประเพณีขึ้นในวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2552 โดยนักท่องเที่ยวสามารถไปร่วมงานประเพณีได้ และช่วยกันส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เพื่อคนรุ่นหลังได้สืบสานประเพณีอันดีงามต่อไป
นอกจากนี้แล้วเมืองสระบุรีแห่งนี้ มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2531 และเริ่มแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2536 เป็นโครงการทฤษฎีใหม่แห่งแรกวัดมงคลชัยพัฒนา ต.ห้วยบง อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองและให้ความรู้แก่ราษฎร รวมทั้งขยายผลสู่พื้นที่เกษตรกร โดยจัดอบรมการจัดการที่ดินและน้ำตามแนว "ทฤษฎีใหม่" และมีการส่งเสริมพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นา โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 2,500 ไร่ 206 แปลง 189 ครัวเรือน เพื่อพัฒนาส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรเพื่อการพออยู่พอกินและพึ่งตนเองได้ อันเป็นแนวทางการดำเนินงานเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้เช่นกัน ใครที่ผ่านไปมาก็แวะเข้ามาชมแปลงเกษตรตัวอย่างในการทำการเกษตรแบบพอเพียงกันได้ เมื่อเดินชมและมองไปรอบๆ เห็นต้นผลไม้นานาชนิด แปลงปลูกผัก บ่อเลี้ยงปลา นาข้าว ดูแล้วทำให้สดชื่น บรรยากาศก็ร่มรื่นเย็นสบาย
อีกสถานที่หนึ่งที่จะพาไปเที่ยวคือ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี ริมแม่น้ำป่าสัก อำเภอเสาไห้ ป้ายที่ประตูทางเข้าทั้งซ้ายและขวา บอกให้ทราบว่า สถานที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรีแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์เรือลุ่มน้ำป่าสัก และเป็นศูนย์ศึกษาศิลปวัฒนธรรมไทย ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรีอีกด้วย เมื่อผ่านประตูทางเข้ามาแล้ว จะมองเห็นเรือนไทยหลังใหญ่ อายุกว่าร้อยปี ตั้งตระหง่านราวกับจะต้อนรับผู้มาเยือน อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตผู้คนในสมัยก่อน บรรยากาศด้านในร่มรื่นด้วยร่มเงาของเรือนไทย และด้วยไม้ใหญ่สารพัดชนิดที่ดูแล้วน่าเข้าไปเยี่ยมเยือนยิ่งนัก สถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยวนก็คือ เรือนแบบเชียงแสน หรือเรือนกาแล ถ้าใครสนใจที่จะพักผ่อน ที่แห่งนี้ก็เปิดให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ รองรับได้ถึง 50 คน ราคาย่อมเยาคนละ 100 บาท หากพักเป็นหมู่คณะมากกว่า 30 คน จะมีบริการจัดอาหารเย็นแบบขันโตกล้านนา เวลานั่งกินก็ชมการฟ้อนรำของวัยละอ่อนชาวไทยวน ไม่ต้องขึ้นเหนือ ก็หาชมและลิ้มรสอาหารภาคเหนือได้ที่จังหวัดสระบุรี พร้อมรับลมชมทิวทัศน์เพลินแม่น้ำป่าสักที่ไม่ไก
ลจากกรุงเทพฯ ทำให้ได้อรรถรสไปอีกแบบหนึ่ง
ก่อนกลับอย่าลืมแวะซื้อขอฝากเมืองสระบุรีกันที่พลาดไม่ได้คือ กระหรี่ปั๊ป เป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสระบุรี เนื้อกรอบ หอม อร่อย และมีหลายไส้ สามารถเลือกซื้อได้ที่ร้านค้าตลอดการเดินทาง
สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวและการเดินทางได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี โทร. 032-223-508, 032-313-433
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026187781 โอเค แมส